ผลการศึกษาร่วมระหว่างสหรัฐและออสเตรเลียระบุว่า การหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินอาจจะไม่ช่วยลดภาวะโลกร้อน หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้
นายทอม วิกลีย์ ศาสตราจารย์วุฒิคุณประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลดของออสเตรเลียและนักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์วิจัยชั้นบรรยากาศของสหรัฐ (NCAR) ทำการศึกษาเรื่องการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลส่งผลกระทบกับสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไร
นายวิกลีย์กล่าวว่า การหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินเป็นเหมือน “ดาบสองคม" เนื่องจากว่า แม้การใช้พลังงานถ่านหินก่อให้เกิดความร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับความร้อนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ปล่อยก๊าซซัลเฟตและอนุภาคอื่นจำนวนมากซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ก๊าซซัลเฟตและอนุภาคเหล่านี้ก็ยังช่วยให้โลกเย็นลงด้วยการสกัดกั้นแสงแดดที่ส่องมายังโลก
ในขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของปริมาณก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซตัวสำคัญที่สร้างภาวะเรือนกระจกและรั่วไหลออกมาจากระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ
นายวิกลีย์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในด้านหนึ่ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินอาจจะทำให้โลกร้อนขึ้นบ้างก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ช่วยลดมลภาวะเช่นกัน"
การศึกษาดังกล่าวระบุว่า การที่ทั่วโลกเริ่มหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินบ้างแล้วในบางส่วน จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเล็กน้อย โดยจะกินเวลายาวนานถึงปี 2593 เป็นอย่างน้อยในกรณีที่ไม่มีก๊าซมีเทนรั่วไหลออกมาจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ และอาจกินระยะเวลาไปถึงปลายปี 2683 หากมีการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจำนวนมาก
หลังจากนั้น การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างมากจะเริ่มช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วโลก แต่ก็เป็นเพียงแค่ไม่กี่สิบองศา
“การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากขึ้นอาจจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรมากนักต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน" นายวิกลีย์กล่าว “อาจจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษในการชะลอภาวะโลกร้อน"
นายวิกลีย์กล่าวว่า การศึกษาของเขาไม่ได้หมายความว่า ถ่านหินดีกว่าก๊าซธรรมชาติ แต่เป็นเพราะมีอีกหลายปัจจัยอื่นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ควรจะนำมาพิจารณาเมื่อต้องกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อน
การศึกษาดังกล่าวจะได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ Climatic Change Letters ฉบับเดือนต.ค.นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน