น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับยุโรปและสหรัฐ ยังไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายด้านต่าง ๆ ที่เคยประกาศไว้ และยังไม่มีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยให้ลดลง แต่ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยในภาพรวมเชื่อมั่นว่าจะรับมือผลกระทบจากต่างประเทศได้ รัฐบาลจะพยายามเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชนและนักลงทุน
"นโยบายที่มีอยู่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาวินัยทางการเงินการคลังก็ยังเดินอยู่ เพราะนโยบายที่ประกาศไว้เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นมาในลักษณะเดียวกับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุ เพียงว่าขอรอดูเหตุการณ์ก่อน เพราะหากการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปสำเร็จก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก
น.ส.ยิ่งลักษณฺ กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเมื่อวานนี้ น่าจะมาจากความตกใจของนักลงทุนต่อสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป จนนำไปสู่การชะลอการลงทุน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนต่อไป
"ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งกองทุน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผันผวนจากเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรป ทำให้นักลงทุนตกใจและชะลอการลงทุน ซึ่งในภาพรวมรัฐบาลก็ได้หารือข้อกังวลในจุดนี้ และเล็งเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น แต่ยืนยันว่าโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ แต่อาจจะมีแรงกระทบทำให้เกิดความผันผวนบ้าง หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องเร่งนโยบายอื่นๆเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นการดูแล SML กองทุนตั้งตัวได้ เพื่อเร่งฟื้นฟูในระดับครัวเรือน รวมถึงสั่งการให้กระทรวงต่างๆ ดูแลแนวนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
อนึ่ง วานนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้ยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาล อาทิ ให้จัดตั้งกองทุนลักษณะเดียวกับกองทุนวายุภักษ์, ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยช่วงนี้ออกไปก่อน, ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประชานิยมต่างๆ และให้ปรับปรุงหรือเรียงลำดับความสำคัญใหม่เพื่อให้สามารถรองรับกับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบมาถึงประเทศไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับว่า ไม่สามารถรับปากได้ว่านโยบายของรัฐบาลทั้งหมดจะสามารถรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัจจัยต่างประเทศเข้ามามีผล โดยในประเทศจะเร่งสร้างรายได้ระดับครัวเรือน รวมถึงการลงทุนในเมกะโปรเจ็คต์ แต่ยอมรับว่าต้องใช้เวลา อีกทั้งในภาพรวมจีดีพีของไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น คงต้องค่อยๆ ปรับโหมดการส่งออก แต่เชื่อว่าหากการแก้ไขปัญหาในยุโรปดีขึ้นจะส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วย เชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นาน