Analysis: ค่ายรถจีนดิ้นสุดตัวกับการผลิตและทำตลาดในประเทศไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 27, 2011 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตรถของจีนกำลังพิจารณา หรือแม้กระทั่งเตรียมการที่จะเปลี่ยนจากการ “นำเข้า" รถยนต์สู่ประเทศไทยไปเป็นการ “ผลิต" ในประเทศไทยแทน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญของการปรับตัวเข้ากับสภาพท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดภาษีการนำเข้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดยานยนต์แดนสยามขึ้นมาแทน นอกจากนี้ยังเป็นความเคลื่อนไหวอย่างช่ำชองที่จะนำค่ายรถจีนขยับเข้าใกล้ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเบ่งบาน

บรรดาคนงานกำลังง่วนอยู่กับการหลอมโลหะและก่อคอนกรีต เร่งมือทำงานภายใต้การดูแลของเฉิน หรงยู่ ประธานบริษัท ดี เอฟ เอ็ม มินิทรั๊ค (ประเทศไทย) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครออกไปทางตะวันออกราว 100 กิโลเมตร และยังเป็นเขตปลอดศุลกากรด้วยนั้น

เฉินบอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า โรงงานประกอบรถยนต์ดังกล่าวเป็นกิจการร่วมทุนของบริษัทของเขากับบริษัทแม่ คือ ตงเฟิง มอเตอร์ ซึ่งจะเริ่มประกอบรถได้ในเดือนหน้า หลังจากนั้น จะสามารถเดินเครื่องการผลิตได้อย่างเต็มสูบไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้

เมื่อถึงเวลานั้น การผลิต ตงเฟิง เสี่ยวกัง ซึ่งเป็นรถมินิทรัคที่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย จะได้รับการอัพเกรดจากการนำชิ้นส่วนสำเร็จ (SKD) เข้ามาประกอบในประเทศไทยไปเป็นแบบการประกอบแบบ CKD ขณะที่กระบวนการประกอบชิ้นส่วนอย่างน้อย 40% จะย้ายมาดำเนินการในประเทศไทย

เฉินบอกว่า ในปัจจุบันนี้ ดี เอฟ เอ็ม มินิทรั๊ค มียอดจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 3,000 คันต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเทียบกับส่วนแบ่งตลาดรถแบบมินิทรัคถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว บริษัทมีตัวแทนจำหน่ายพร้อมให้บริการหลังการขายกระจายอยู่ทั่วประเทศราว 39 ราย นับเป็นความสำเร็จที่ดลใจให้บริษัทตัดสินใจเพิ่มการผลิตในประเทศไทย

กฎหมายไทยระบุไว้ว่า รถบรรทุกนำเข้าจะต้องเสียภาษี 40% แต่ตัวเลขจะยิ่งสูงกว่านี้หากเป็นรถยนต์โดยสารทั่วไป การแบกภาระภาษีนำเข้าทำให้บริษัทต้องขึ้นราคารถตามไปด้วย ส่งผลใหศักยภาพการแข่งขันกับรถยนต์ที่ผลิตหรือจดประกอบในประเทศไทยลดลง

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานบริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานกรรมการจัดงานมหกรรมยานยนต์นานาชาติ หรือมอเตอร์ เอ็กซ์โป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า แค่รถยนต์มี “ส่วนประกอบท้องถิ่น" เพียงเล็กน้อยในการผลิตแบบ CKD ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว “นั่นล่ะครับที่เป็นข้อได้เปรียบสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์นำเข้า"

ด้านตงเฟิง มอเตอร์ บริษัทแม่ในประเทศจีน เตรียมให้การสนับสนุนการขยายโรงงานประกอบรถยนต์อย่างเต็มที่ หลังจากที่ได้เปิดตัวไป ซึ่งเฉินบอกว่า ความต้องการรถมินิทรัคในประเทศไทยมีมากขึ้น และคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ไม่เพียงแต่ดี เอฟ เอ็มเท่านั้น แต่เฉินยังบอกด้วยว่า แบรนด์รถจีนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟิรส์ต ออโตโมทีฟ เวิร์กส์ (เอฟเอดับเบิลยู) ฉางอัน และเฌอรี่ต่างก็สนใจที่จะเพิ่มความเป็นไทยให้กับรถยนต์ของบริษัทเช่นกัน และได้เปิดเจรจากับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

มนทกานติ์ คณะวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร์ บอกกับสำนักข่าวซินหัวผ่านทางอีเมล์ว่า ในแต่ละปี เฌอรี่ไทยมียอดส่งมอบยานยนต์จากจีนสู่ตลาดในประเทศไทย 4 รุ่น 2,000 คัน และมีแผนการเหมือนกับดี เอฟ เอ็ม คือ ย้ายการผลิตมาอยู่ในประเทศไทยเสียเลย โดยขณะนี้เฌอรี่ ไชน่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว

เมื่อมองตลาดในภาพที่ใหญ่กว่านั้นจะเห็นประโยชน์มหาศาลเช่นกัน เนื่องจากประเทศต่างๆในอาเซียนต่างกำลังพยายามเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการบูรณาการเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบการทำงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบการรวมตัวของสหภาพยุโรป (อียู) และจะเสร็จสมบูรณ์ไม่เกินปี 2558

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงแรกของเออีซีเท่านั้น หรือที่เรียกว่า ช่วง'เพาะกล้า' ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศต่างๆในอาเซียนตกลงที่จะคัดสรรสินค้าโภคภัณฑ์มาปันส่วนกัน เช่นข้าวของไทย พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำของลาว ยางของมาเลเซีย และยังมียานยนต์ด้วย สำหรับยานยนต์นั้นจะสามารถซื้อขายกันในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี" เฉินกล่าว

“พูดได้ว่า หากเริ่มต้นการผลิตในประเทศไทยหรือในประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็จะเท่ากับเป็นการเปิดประตูออกสู่ตลาดขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรล้นหลามถึงเกือบ 6 พันล้านคน"

-- ศักยภาพที่ใช่

นายขวัญชัยบอกว่า รถยนต์สัญชาติจีนที่ดี เอฟ เอ็ม นำร่องบุกตลาดประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อราว 4-5 ปีก่อน ทั้งยังมีคุณภาพดีกว่าที่คนไทยเคยคิดไว้เสียอีก ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงคุ้นเคยกับรถยนต์แบรนด์จีนมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น หนทางก็ยังอีกยาวไกล

สำหรับคำถามเกี่ยวกับมุมมองของคนไทยที่มีต่อรถยนต์จีนว่า อยู่ในตำแหน่งใดนั้น นายขวัญชัยตอบว่า อยู่ระหว่างรถยนต์เกาหลีกับมาเลเซีย นั่นก็คือระดับกลางค่อนมาทางล่างๆ

“สิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ราคากับคุณภาพ เมื่อมองในแง่นี้ รถยนต์จากจีนจะเป็นรองรถเกาหลีอยู่เล็กน้อย แม้ว่าจะดีกว่ารถจากมาเลเซียและอินเดีย แต่ก็ยังเทียบกับรถยนต์จากญี่ปุ่นไม่ติด"

นายขวัญชัยมองว่า การพัฒนารถยนต์จีนในประเทศไทยในอนาคตควรจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเลือกลูกค้าให้ตรงตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

“อย่างน้อยพวกเขาควรจะมีผลิตภัณฑ์สักอย่างหนึ่งซึ่งมีราคาถูก แต่คุณภาพก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มคนระดับรากหญ้า ลูกค้าคนไทยเหมือนกับปิรามิดนั่นแหละครับ หากคุณเข้าถึงรากหญ้าได้ คุณก็จะมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ แต่ถ้าคุณเลือกที่จะจับลูกค้าชั้นกลางหรือชั้นสูง คุณจะต้องแข่งขันกับโตโยต้า ฮอนด้า และยังมีเจ้าอื่นๆอีก ซึ่งล้วนแล้วแต่เติบโตในตลาดไทยดีอยู่แล้ว"

นายขวัญชัยบอกว่า เมื่อมองประเด็นนี้อาจทำให้เฌอรี่มีปัญหาอยู่บ้าง “ตัวแทนจำหน่ายของเฌอรี่ต้องการพัฒนารถเฌอรี่ให้เป็นรถระดับคุณภาพ ฉะนั้นราคาก็จะสูงตามไปด้วย แต่คุณภาพนั้นไม่สอดคล้องกับราคาเสียทีเดียว"

ข้อมูลจากเว็บไซต์เฌอรี่ไทยระบุว่า เฌอรี่ คิวคิว ซึ่งเป็นรถยนต์โดยสารขนาดเล็ก ราคาประมาณ 4 แสนบาท หรือประมาณ 1.3 หมื่นดอลลาร์ สูงกว่าราคาขายในประเทศจีนถึง 2 เท่าตัว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ QQLoverClub ในประเทศไทยนั้น บรรดาเจ้าของเฌอรี่ คิวคิวต่างเข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมองรถแสนรักกัน โดยสมาชิกผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งบอกกับซินหัวว่า สาเหตุเบื้องต้นที่เขาเลือกใช้คิวคิวเลยนั้น ก็เพราะรูปร่างหน้าตาน่ารักและไม่ซ้ำแบบใคร “เวลาขับคิวคิวในเมืองใหญ่มันสะดวกดี และการหาที่จอดรถก็ง่ายด้วย" ส่วนจุดด้อยนั้นก็คือ “รถคันนี้ไม่ค่อยจะประหยัดพลังงานสักเท่าไหร่"

ด้านเฉิน ประธาน ดี เอฟ เอ็ม มินิทรั๊ค (ประเทศไทย) ยังระบุด้วยว่า การประกอบรถยนต์ในประเทศไทยไม่ใช่งานง่ายสำหรับบริษัทรถจีน เนื่องจากความเสียเปรียบในตลาดในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดจากบริษัทยานยนต์ต่างชาติรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทญี่ปุ่น

“ผู้แข่งขันบางรายอยากจะกำจัดซัพพลายของเราทิ้งอย่างสิ้นเชิง พวกเขาจะได้เบียดแบรนด์จีนตกตลาดไปเลย" เฉิน ซึ่งเป็นถึงตัวแทนจำหน่ายยานยนต์รุ่นเก๋าผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในธุรกิจนี้ตลอด 45 ปีที่ผ่านมากล่าว “บางครั้งเราก็ต้องแอบพัฒนาตัวเองอยู่ข้างหลัง"

อุปสรรคอีกประการนั้น มาจากระบบการเงิน เฉินบอกว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ยอมอนุมัติสินเชื่อให้กับการซื้อรถยนต์จีน บริษัทประกันก็เช่นกัน พวกเขามองว่ารถยนต์จีนมีความ “เปราะบาง" จึงเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น สูงกว่ารถยนต์ญี่ปุ่นถึงเกือบ 25%

-- สางปัญหา

การตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทยอาจจะแก้อีกปัญหาหนึ่งให้กับยานยนต์จีนได้ด้วย ภายใต้นโยบายใหม่ของรัฐบาล ดี เอฟ เอ็ม จะคืนภาษีสรรพสามิต 3% ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 7,000 รายสำหรับลูกค้าของดี เอฟ เอ็ม

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกที่ซื้อรถระหว่างวันที่ 16 ก.ย. ปีนี้ไปจนถึง 31 ธ.ค.ปีหน้า โดยรถยนต์ที่เข้าโครงการจะต้องมีเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี หรือเป็นรถกระบะกึ่งบรรทุกไม่จำกัดขนาดเครื่องยนต์แต่ต้องมีราคาไม่เกินคันละ 1 ล้านบาท ภาษีที่จะได้รับคืนจะเป็นไปตามภาษีที่เรียกเก็บจริงของรถยนต์แต่ละรุ่น แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู หนึ่งในเงื่อนไขของนโยบายดังกล่าวที่ถูกวิจารณ์คือ จะต้องเป็นยานยนต์ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศไทยเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมรถยนต์นำเข้า อาทิ โปรตอนของมาเลเซีย เกียของเกาหลีใต้ ซูซูกิของญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้บริษัทต่างๆเหล่านี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันลงไปอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง ขณะที่ทาทา มอเตอร์ (ประเทศไทย) ยื่นรายงานต่อเอกอัครราชทูตอินเดียในกรุงเทพฯว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่มีลักษณะ “แบ่งแยก" พร้อมกับโจมตีรัฐบาลไทยว่า ดำเนินนโยบายการค้าอย่างไม่เป็นธรรมต่อรถยนต์นำเข้า

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากบริษัทผลิตยานยนต์ในประเทศและผู้บริโภครุ่นเยาว์ ซึ่งเป็น 2 กลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า นโยบายใหม่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 ไปจนถึงปี 2555 มีการคาดการณ์ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 900,000-940,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 12-17% ในปีนี้ และในปี 2555 จะเพิ่มขึ้น 98,000-103,000 คัน หรือ 7-12%

อย่างไรก็ดี นายขวัญชัยแย้งว่า นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดอุปสงค์จอมปลอมเท่านั้น และหลังจากที่ตลาดเติบโตเปรี้ยงปร้างขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆแล้ว ก็จะถอยหลังลง

ขณะที่ หทัยวัลคุ์ สุธารัตนชัยพร นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับซินหัวว่า นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเจาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะต้องอาศัยการกู้เงินมาซื้อรถ ทั้งที่ความสามารถในการจ่ายมีจำกัด ซึ่งเท่ากับกระพือความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เงินผ่อนให้กับสถาบันการเงินผู้อนุมัติเงินกู้

นอกจากนี้ เมื่อภาคครัวเรือนได้รับแรงจูงใจให้เป็นเจ้าของรถยนต์มากขึ้น สภาพการจราจรย่อมจะเลวร้ายลง การใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐบาลกำลังหาหนทางแก้ปัญหาการจราจร และอาจจะเลียนแบบกรุงปักกิ่ง คือ จำกัดหมายเลขทะเบียน เพื่อควบคุมการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนให้อยู่หมัด สำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก การนำเข้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ