นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสภาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในโครงการนำร่องการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ปี 2551 ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท กานดาเดคคอร์ จำกัด บริษัท เฉลิมนคร จำกัด บริษัท ซื่อตรง กรุ๊ป จำกัด บมจ. ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ บมจ. ธนาสิริ กรุ๊ป (THANA) และ บมจ.ศุภาลัย (SPALI)
นายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส KBANK กล่าวว่า ธนาคารได้ให้บริการเป็นคนกลางดูแลผลประโยชน์คู่สัญญาซื้อขายบ้าน (Escrow Agent) เป็นครั้งแรกของประเทศ โดยลูกค้าผู้ซื้อบ้านสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิในการให้ธนาคารเป็นคนกลางในการดูแลผลประโยชน์ ในการซื้อขายบ้านในโครงการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 6 ราย โดยคิดค่าธรรมเนียม 0.30% แบ่งจ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ฝ่ายละ 0.15%
ระหว่างที่ผู้ซื้อชำระเงินดาวน์ให้ผู้ขาย ธนาคารจะดูแลเงินดังกล่าวพร้อมจัดทำทะเบียนเกี่ยวกับสัญญาดูแลผลประโยชน์ จัดทำบัญชีทรัพย์สินคู่สัญญา ออกหลักฐานรับรองการฝากเงิน แจ้งความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีผู้ดูแลผลประโยชน์ และเมื่อผู้ซื้อบ้านชำระเงินดาวน์ครบถ้วน ธนาคารจะโอนเงินพร้อมดอกผลจากบัญชีผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ขาย และให้มีการโอนทรัพย์สินแก่ผู้ซื้อบ้าน รวมทั้งปิดบัญชีดูผลแลประโยชน์ และเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา
"ผู้ซื้อบ้านจะมั่นใจได้ว่าเมื่อชำระเงินแล้ว หากผู้ขายไม่สามารถโอนส่งมอบทรัพย์สินได้ ผู้ซื้อยังได้รับเงินดาวน์คืนทั้งหมดพร้อมผลประโยชน์"นายปรีดี กล่าว
ธนาคารคาดว่าจะมีลูกค้าเลือกทำ Escrow Agent ในระยะแรก จำนวน 1,000 ราย จาก 6 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ในขณะที่ธนาคารหวังว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้าในด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น
อนึ่ง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาปี 2551 (Escrow Account) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ โดยให้สิทธิกับประชาชนหรือผู้บริโภคในการเลือกที่จะมีคนกลางทำหน้าที่ดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ ซึ่งผู้ที่จะมาทำหน้าที่คนกลางภายใต้กฎหมายนี้ คือ สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์จากคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
ทั้งนี้ ได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงจากการกระทำผิดสัญญาของคู่สัญญา ลดข้อร้องเรียนและข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้มีมาตรฐานเดียวกันและการขยายตัวของธุรกิจประเภทนี้ในระยะยาว