In Focusผ่ากองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (EFSF) กับภารกิจกู้ชีพยูโรโซน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 28, 2011 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่นักวิเคราะห์ในแวดวงวอลล์สตรีทมองว่าเป็นเดือนอาถรรพ์สำหรับตลาดหุ้นนั้น ดัชนีดาวโจนส์และดัชนีตลาดหุ้นหลักๆทั้งในยุโรปและเอเชียต่างก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด บางวันก็ดิ่งลึกลงไปจนไม่รู้ว่า “ก้นเหวอยู่หนใด?" สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากปัจจัยเดิมๆคือ ความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ยุโรปที่ส่อเค้าว่าจะลุกลามไปไกลกว่าความไวแสง เพราะ “ความกรีซ" ยังไม่ทันหาย “ความอิตาลี" ก็วอดวายไม่แพ้กัน เมื่อเจ้าประจำอย่างสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ออกมาสวัสดียามเช้ากับชาวโลกในวันที่ 20 ก.ย. ด้วยการหั่นเครดิตยักษ์ใหญ่ยูโรโซนอย่างอิตาลีลง 1 ขั้น ซึ่งลากเอาดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงไปพังแนวรับกันถ้วนหน้า ... ก็ทำเซอร์ไพรซ์กันแต่เช้าแบบนั้น ใครกันจะไปกด like ให้

กระทั่งช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมารีบาวด์ได้อีกครั้ง เมื่อเหยี่ยวข่าวของสถานีโทรทัศน์ CNBC คาบข่าวออกมาจากการประชุมวงในของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ว่า บรรดาท่านผู้นำเหล่านี้เขากำลังเจรจากันเรื่องการเพิ่มขนาดกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ซึ่งเป็นกองทุนที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ผู้กำหนดชะตา" เศรษฐกิจยุโรปในอนาคต และคาดว่าจะเป็นหมากตัวหนึ่งที่จะสามารถพลิกวิกฤตบนกระดานหนี้ยูโรโซนได้

*EFSF กับภาระบนสองบ่า และหนทางข้างหน้าที่ยังไม่ชัดเจน

กองทุน EFSF เป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ลักเซมเบิร์ก ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2553 กองทุน EFSF ได้รับฉันทานุมัติให้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินในยุโรป ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลของประเทศที่ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โดยมีธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป และสำนักงานบริหารหนี้เยอรมนี เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ

ตามข้อตกลงเดิมนั้น กองทุน EFSF จะมีอายุแค่ 3 ปีเท่านั้น โดยหากไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเงิน กองทุน EFSF จะต้องปิดตัวลงหลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2556 แต่หากมีการดำเนินกิจกรรมทางการเงิน กองทุน EFSF ก็จะมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศยูโรโซนที่ประสบปัญหา โดยผ่านช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการออกตราสารหนี้

เดิมทีนั้น วงเงินในกองทุน EFSF มีอยู่เพียง 2.20 แสนล้านยูโร กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำจาก 27 ชาติสมาชิกอียู มีมติให้ขยายวงเงินของ EFSF เป็น 4.40 แสนล้านยูโร ภายใต้มาตรการ "Euro Plus Pact" ซึ่งผู้นำอียูหมายมั่นปั้นมือว่า EFSF จะช่วยพยุงยูโรโซนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ขณะนี้ ให้กลับมาเริ่มตั้งไข่ได้อีกครั้ง

กล่าวกันว่า EFSF มีร่องรอยบางอย่างคล้ายกับโมเดลโครงการปล่อยกู้สำหรับหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินทรัพย์ (TALF) ซึ่งเป็นกองทุนปล่อยกู้ฉุกเฉินที่กระทรวงการคลังสหรัฐและ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จัดตั้งขึ้นในปี 2551 เพื่อผ่อนคลายภาวะชะงักงันในตลาดสินเชื่อ และเพื่อช่วยเหลือธนาคารสหรัฐในช่วงนั้น จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ แสดงท่าทีเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้กับแนะนำกับประเทศยุโรปเมื่อครั้งที่เดินทางไปเยือนเมืองวรอทส์วาฟของโปแลนด์ในช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ในฐานะผู้เจนจัดในงานกู้วิกฤต

ภายใต้โครงการ TALF นั้น กระทรวงการคลังสหรัฐได้ให้การคุ้มครองสินเชื่อ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งช่วยให้เฟดสาขานิวยอร์กสามารถปล่อยกู้ได้ 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอมรับตราสาร ABS เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ยืมดังกล่าวโดยไม่ปรับลดมูลค่าของ ABS ลง ปฏิบัติการกู้ชีพภาพธนาคารด้วยการรับตราสาร ABS เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมทั้งๆที่ไม่มีผู้ซื้อ ABS รายอื่นๆอยู่ในตลาดในช่วงนั้น ทำให้เฟดกลายเป็น "มาร์เก็ตเมคเกอร์" และยังช่วยให้ตลาดตราสาร ABS ของสหรัฐสามารถหลุดพ้นจากภาวะชะงักงัน ซึ่ง ABS ในที่นี้รวมถึงหลักทรัพย์ ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อเพื่อการศึกษา, สินเชื่อสำหรับ ธุรกิจขนาดเล็ก และสัญญาเช่า

* EFSF กับอุปสรรคบนเส้นทางของความขัดแย้ง

แม้ถูกวางบทบาทให้ทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพด้านการเงิน ...แปลกแต่จริงที่ว่า EFSF กลับทำหน้าที่ได้แค่ “หน่วยแทรกซึม" ไม่ใช่ “หน่วยทะลวงฟัน" เพราะแม้จะมีวงเงิน 4.40 แสนล้านยูโร แต่ EFSF ก็มีศักยภาพในการปล่อยกู้ที่แท้จริงได้แค่ 2.25 แสนล้านยูโรเท่านั้น เพียงเพราะต้องการจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือขั้น AAA เอาไว้ นอกจากนี้ เม็ดเงินที่ร่อยหรอไปกับการช่วยเหลือกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสในช่วงที่เกิดวิกฤตหนี้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากนานาประเทศ รวมทั้งสหรัฐว่า ยุโรปควรจะเพิ่มศักยภาพด้านการปล่อยกู้ให้กับ EFSF และขอบข่ายในการให้ความช่วยเหลือประเทศยูโรโซน

แต่เส้นทางสู่การกอบกู้วิกฤตหนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีหลายหน่วยงานที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย รวมถึงสมาชิกสหภาพการค้ายุโรปกว่า 20,000 คนได้ออกมาประท้วงในกรุงบรัสเซลส์เมื่อไม่นานมานี้ เพราะพวกเขากังวลว่าการเพิ่มวงเงินใน EFSF ก็เท่ากับว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศในยุโรปจะต้องนำเงินคงคลังมาลงขันเพิ่มขึ้นอีก จึงเป็นที่เกรงกันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มงวด และส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีก็หวั่นไหวว่า การเข้าไปมีส่วนลงขันในกองทุน EFSF อาจทำให้ประชาชนในประเทศไม่พอใจ และอาจทำให้ฐานเสียงเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาลพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งหลักฐานล่าสุดที่ทำเอานายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคลเหงื่อตกก็คือว่า พรรคคริสเตียน เดโมเครติคส์ (ซีดียู) ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของเธอเอง ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณจากภาคประชาชนว่า พวกเขาไม่พอใจที่รัฐบาลนำเงินคงคลังและภาษีราษฎรไปช่วยอุ้มประเทศที่ใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างกรีซและประเทศอื่นๆในยูโรโซน

* จับตาอนาคต EFSF กับการประชุมชี้ชะตาของรัฐสภาเยอรมนีวันพรุ่งนี้

กระแสข่าวร้อนแรงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวไหนเกินไปกว่าการเรียกร้องให้มีการเพิ่มขนาดกองทุน EFSF นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาดูสมาชิกสภานิติบัญญัติของเยอรมนีที่จะลงมติเรื่องการเพิ่มขนาดกองทุน EFSF ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น เยอรมนีได้คัดค้านการเพิ่มขนาดของกองทุน EFSF เพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของเยอรมนี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คณะรัฐบาลของนางแมร์เคลได้ยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยการอนุมัติข้อเสนอการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางด้านในกองทุน EFSF เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นางแมร์เคลยังฝ่าวิกฤตศรัทธาจากภาคประชาชน ด้วยการลุกขึ้นสนับสนุนการเพิ่มขนาดกองทุน EFSF ในเกือบจะนาทีสุดท้าย พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่าพรรคร่วมรัฐบาลของเธอจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพรรคฝ่ายค้านในการลงมติเรื่องการมอบอำนาจเพิ่มเติมให้แก่ EFSF ในวันที่ 29 ก.ย.

ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า สหรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนการเพิ่มวงเงินใน EFSF โดยผ่านทางการให้ไอเอ็มเอฟจ่ายเงินสมทบแก่ EFSF มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ไอเอ็มเอฟมีภาระผูกพันในการจ่ายเงินสมทบ 2.50 แสนล้านยูโรแก่ EFSF ขณะที่สหรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในไอเอ็มเอฟ

...เราคงจะต้องมาลุ้นกันว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะกด like ให้กับผลการลงมติเพื่อชี้ชะตา EFSF ในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ