(เพิ่มเติม) สศค.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 54 เหลือ 4% จากเดิม 4.5% ส่วนปี 55 โต 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2011 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 54 เหลือ 4% หรือช่วงการคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ย 4.5% หรือช่วง 4-5% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากสถานการณ์น้ำท่วม และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออก

ส่วนในปี 55 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับ 4.5% ตามที่เคยคาดไว้

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. คาดว่า ในปีนี้การบริโภคในประเทศจะชะลอลงจากที่เคยไว้ เนื่องจากผลกระทบของปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่ายังขยายตัวสูงกว่าครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่ออุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและบริการให้ชะลอลง โดยหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 1% จะกระทบต่อการส่งออกลดลง 1% เช่นกัน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

"ปัญหาน้ำท่วมที่ขณะนี้ยังท่วมนาน มีขอบเขตความเสียหายกว้างมาก ซึ่งเบื้องต้นที่กระทรวงเกษตรฯประเมินความเสียหายอยู่ที่ 8.8 ล้านไร่ มีปศุสัตว์ และการขนส่งที่ถูกกระทบ คาดว่ามีความเสียหายแล้วกว่า 2-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีลดลงประมาณ 0.2-0.3%" นายบุญชัย กล่าว

นายบุญชัย คาดว่า ปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.5% หรืออยู่ในช่วง 4-5% โดยมีแรงขับเคลื่อจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มมีผล ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นโยบายการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศ

การส่งออกคาดว่าขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในปี 55 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 14 ประเทศ จะขยายตัวอยู่ที่ 3.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากปี 54 ที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตั้ว 3.2% โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่คาดว่าปี 54 จะหดตัว จะกลับมาขยายตัวในปี 55 แต่เศรษฐกิจยุโรปยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้งนี้ ประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินทุนเคลื่อนย้านที่ไหลออก และการขาดดุลการค้าในเดือน ส.ค.โดยประเมินว่าในปี 54 เงินบาทจะอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ และปี 55 จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีแนวโน้มเกินดุลลดลงเมื่อเทียบปี 53-54 ส่วนดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 3.50% ขณะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงภาวะถดถอย ทำให้แรกดดันต่อเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ลดลง จึงคาดว่าจนถึงสิ้นปี 54 ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ 3.25-3.75% ขึ้นอยู่กับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 2 ครั้ง ในเดือน ต.ค.-พ.ย. ส่วนปี 55 คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วง 3.25-4.0%

ทั้งนี้ นายบุญชัย แนะให้ติดตามปัจจัยเสี่ยง 4 ด้านที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อนคงมีน้อย แต่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหากเกิดกรณีเลวร้ายสุด อาจกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและมีผลต่อไทยเช่นกัน

3. นโยบายการะตุ้นการบริโภคการลงทุนในประเทศของรัฐบาล หากเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ จะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 55 แต่ต้องพิจารณาขอบเขตการดำเนินโนบายว่าครอบคลุมมากน้อยอย่างไร 4. การเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งส่งผลต่อเงินบาท และอาจมีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเงินบาทแข็งค่า อาจทำให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้น แต่เงินบาทอ่อนค่าจะเร่งตัวให้เงินเฟ้อสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังมีผลต่อการส่งออก แต่หากแข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ