นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยในงานปาฐกถา "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2555"ว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากปัจจุบันที่เก็บในอัตรา 7% เพราะเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้นจากการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่นโยบายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนทั้งค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการรับจำนำข้าวเริ่มดำเนินการ แต่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้น ซึ่งตามแผนจะลดเหลือ 23% ในปี 55 และเหลือ 20% ในปี 56 จากปัจจุบันที่ 30% ดังนั้นหากภาคเอกชนร่วมมือกับนโยบายของภาครัฐ อาจทำให้ภาษีนิติบุคคลในปี 57 ต่ำลงได้อีก
ส่วนภาคส่งออกนั้น มองว่ามูลค่าการส่งออกไทยปี 55 จะขยายตัวจากปีนี้ 15% ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับเป้าหมายเพิ่มหรือลดลงแล้ว เพราะจากการหารือกับภาคเอกชนเชื่อว่าส่งออกไทยจะขยายตัวได้ในระดับนี้ แม้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง เมื่อรวมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่คาดว่าจะทำให้ GDP ประเทศบวกเพิ่มอีก 2.5% ในปีหน้า ก็จะทำให้จีดีพีไทยในปีหน้าโตได้มากกว่า 4% แน่นอน
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าเหมือนวิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน ทำให้ไทยเผชิญกับแรงกดดันรุนแรง สิ่งที่ต้องทำคือสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งตามหลักการจะคิดถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความเข้มแข็งภาคเอกชน ส่วนการกระตุ้นบริโภคภายในเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ว่าดีหรือไม่ ที่สำคัญต้องรักษาวินัยงบประมาณ ส่วนด้านการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่แล้ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 55 จะเติบโตได้ 3-4% ภายใต้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ 2-4% แต่หากเศรษฐกิจโลกติดลบ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะประเทศยักษ์ใหญ่ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหา ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นการเติบโตจากโครงการรับจำนำที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม, การใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน และรายได้จากการส่งออกในปีหน้าที่น่าจะขยายตัว 10%