นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) หารือร่วมกับนายสมชาย พรจินดารักษ์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทยในการส่งเสริมและผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก และแนวนโยบายการสนับสนุนในการสร้างศักยภาพตราสัญลักษณ์สินค้า“พลอยไทย" ให้ก้าวสู่สากล
ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น พลอยสี ทองคำ และเพชร มาเจียระไนในประเทศ และผลิตต่อเป็นเครื่องประดับเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลกกว่าร้อยละ 97 โดยจะจำหน่ายในประเทศเพียงร้อยละ 3 ของสินค้าที่ผลิตทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการเติบโตสูงมาก ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูงมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไทยมีความชำนาญด้านการเจียระไนพลอยซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย ทำให้สามารถเสริมสร้างศักยภาพสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกได้
นางนลินี เปิดเผยว่า ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้ขยายสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก โดยในปีนี้สมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ ได้ตั้งเป้าหมายการขยายมูลค่าการส่งออกอัญมณีถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเติบโตกว่าร้อยละ 50 จากปีก่อน และมีแผนจัดงาน Bangkok Gems อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จึงเป็นโอกาสช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงสินค้าและผลงานการออกแบบด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างกว้างขวาง
ในฐานะผู้แทนการค้าไทยพร้อมส่งเสริมและผลักดันแผนยุทธศาสตร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านอัญมณีและเครื่องประดับในอาเซียน รวมทั้ง การมีส่วนในการกำหนดแนวโน้มตลาดอัญมณีโลก และแนวโน้มความต้องการของตลาดอนาคต ประกอบกับส่งเสริมการสร้างตราสินค้า “พลอยไทย" ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล ทำให้ไทยเป็นตลาดซื้อขายพลอยสีที่สำคัญของโลก
อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายการส่งออกสู่ตลาดโลก เนื่องจากมีต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงกว่าประเทศคู่แข่งอีกหลายประเทศที่มีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบไปแล้ว เช่น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านการเจียระไนเพชรพลอย ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าเพชรขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันได้เปิดให้นำเข้าได้อย่างเสรีโดยเก็บภาษีเพียงร้อยละ 1
ขณะที่บรูไนได้ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบลงเหลือร้อยละ 5 และจีนได้ลดภาษีนำเข้าลงจากเดิมร้อยละ 17 เหลือเพียงร้อยละ 4 อีกทั้ง สิงคโปร์และฮ่องกงที่วางยุทธศาสตร์เป็นตู้เซฟอัญมณีโลก โดยเปิดให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอัญมณีโดยเสรี อีกทั้งประเทศดังกล่าวมีกฎหมายกักสินค้าเพื่อตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลานานมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย จึงเห็นว่าการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน
นอกจากนี้ ไทยควรนำเสนอความร่วมมือที่เสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพและเศรษฐกิจการค้าเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีควบคู่ไปกับการประกอบธุรกิจ เพื่อแสดงความจริงใจ
นายนลินี กลาวว่า ยินดีสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดส่งออกในตลาดโลก รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้าง Valued chain ให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ และเห็นว่า ประเทศในแอฟริกา เช่น โมซัมบิก และบอสวานามีทรัพยากรจำนวนมาก และต้องการการพัฒนาจึงเป็นโอกาสดีในการขยายการค้าและการลงทุนของไทยในระยะยาว