นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การประชุม กนง.นัดพิเศษเมื่อวานนี้เป็นการหารือเกี่ยวกับการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 55 เพื่อเตรียมเสนอต่อ รมว.คลัง โดยพิจารณาใน 2 ด้านหลัก คือ ภาวะเงินเฟ้อโดยปกติของไทยกับสถานการณ์ที่มีความผันผวน และภาวะเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ประกอบเกณฑ์การพิจารณาจากเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) และเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation)
"การนัดหารือนัดพิเศษเมื่อวานนี้ไม่มีเรื่องเร่งด่วน แต่เพราะผู้ว่าแบงก์ชาติเพิ่งกลับจาก ดี.ซี.ก็มาคุยเรื่องกรองเป้าหมายเงินเฟ้อ หากรอวาระปกติคงจะช้าไป เพราะต้องรีบเสนอ รมว.คลัง พิจารณา"นายพรายพล กล่าว
ทั้งนี้ การประชุม กนง.นัดพิเศษวานนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย แต่คาดว่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้อย่างเข้มข้นในการประชุม กนง.ตามวาระปกติวันที่ 19 ต.ค.54 โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะส่งผลกระทบต่อไทย
นายพรายพล กล่าวว่า ไทยกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation)ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหารสดว่า ขณะที่ในต่างประเทศใช้ Headline Inflation ที่รวมราคาพลังงานและอาหารสด โดยส่วนตัวมองว่าดีกว่า เพราะเป็นมีความเข้าใจง่าย สะท้อนปัญหาได้ดีจากราคาสินค้า อาหาร ค่าครองชีพ เพราะ Core Inflation จะตัดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ แต่ Core Inflation ก็มีข้อดีที่ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันพื้นฐานของเงินเฟ้อ และทำให้การดำเนินนโยบายไม่ต้องหวือหวามาก
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ Headline Inflation อาจจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อดูสูงกว่าการใช้ Core Inflation แต่ทั้งสองด้านก็ต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกันอยู่แล้ว และการควบคุมดูแลเงินเฟ้อคงไม่แตกต่างไปจากเดิม เพราะการใช้เครื่องมือที่มีอยู่สามารถดูแลเงินเฟ้อได้เหมือนเดิม
"ในต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้ Headline Inflation เพราะคนเข้าใจง่าย เพราะปกติเป้าหมายเงินเฟ้อจะต้องชักจูงนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า...ส่วนของเราจะเปลี่ยนหรือไม่ เราต้องไปทำตกลงกับกระทรวงการคลัง ครม. ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดกัน"นายพรายพล กล่าว
สำหรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ นายพรายพล ยอมรับว่า มีความชัดเจนแล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในด้านใดบ้าง ซึ่งที่เห็นชัดเจนแล้วคือผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่ยังไม่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง(Real Sector) แต่ก็มีแนวโน้มที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้
"เศรษฐกิจโลกอาจมีกระทบแรงในปลายปีนี้ ส่วนปีนี้ต้องดูว่าอาการจะเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจยืดเยื้อหรือรุนแรง ซึ่งการที่กระทรวงการคลังปรับลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 4% ก็ถือว่าพอไปได้ ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นอะไรมากนัก ปีหน้า 4.5% ก็ถือว่าโอเค ภายใต้สถานการณ์ตอนนี้"นายพรายพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทยคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นสัญญาณการส่งออกชะลอตัวก็ตาม แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ รวมไปถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต้องรับสภาพและเตรียมพร้อมรับมือดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.สามารถดูแลค่าเงินได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วงมาก