หนังสือพิมพ์จาการ์ต้า โพสต์ รายงานวันนี้ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้ปรับลดคาดการณ์เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศสู่ตลาดการเงินภายในประเทศลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความปลอดภัยมากกว่า
นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวว่า เงินทุนไหลเข้าในพอร์ทการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรอาจจะลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และเทียบกับ 1.326 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
สำหรับในปีนี้ อินโดนีเซียมียอดทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่ 8.5 ล้านล้านรูเปียห์ (942.35 ล้านดอลลาร์) ในตลาดหุ้น และ 27.04 ล้านล้านรูเปียห์ (2.99 พันล้านดอลลาร์) ในตลาดพันธบัตรรัฐบาล หลังมียอดขายหุ้นที่ 6 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 665.2 ล้านดอลลาร์) และพันธบัตรรัฐบาลที่ 26.07 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2.89 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนนี้
"ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปริมาณทุนไหลเข้ามีขนาดที่ใหญ่มาก ส่วนไตรมาสที่ 3 และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติบางส่วนได้เทขายพันธบัตรรัฐบาล" นายวาร์จิโยกล่าว
ยอดถือครองพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากที่สุด ลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 35.54% ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม สู่ 32.13% ในเดือนกันยายน
"ข้อมูลสถิติของเราบ่งชี้ว่า 'ทุนที่แท้จริง' ของนักลงทุนที่ซื้อเพื่อถือครอง ยังไม่มีสัญญาณของการเทขายพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากนักลงทุนเหล่านั้นยังมีความเชื่อมั่นอย่างมากกับอินโดนีเซีย" นายวาร์จิโยระบุ
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากขึ้นอันเกิดจากวิกฤติในยูโรโซนและสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนหันไปถือครองเงินสดหรือเครื่องมือที่มีความปลอดภัยมากกว่า เช่น เงินสกุลดอลลาร์ เป็นต้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน