ธ.ก.ส.พร้อมควัก 9 หมื่นลบ.-กู้ 3.2 แสนลบ.เดินหน้ารับจำนำข้าวและพักหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2011 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ภายในวงเงิน 410,000 ล้านบาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส.ไม่เกิน 90,000 ล้านบาท และกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ภายในวงเงิน 320,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ

สำหรับกรอบแนวทางการดำเนินโครงการ กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิด ณ ความชื้น 15% ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้นและข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

ทั้งนี้ จะปรับลดราคาตามชั้นคุณภาพหรือตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท โดยไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำและไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำ แต่ต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงชื่อรับรองด้วย

ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 กรกฎาคม 2555 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับจำนำ วิธีการรับจำนำจะรับเฉพาะใบประทวนโดยให้ อคส .และ อตก. รับสมัครโรงสีและตลาดกลางเข้าร่วมโครงการเป็นจุดรับฝากข้าวเปลือกและจ่ายใบประทวนให้เกษตรกร จากนั้นโรงสีที่รับข้าวเปลือกไว้จะสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่งมอบโกดังกลางที่ อคส. หรือ อตก. กำหนดไว้ ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินให้กับเกษตรกรโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของเกษตรกรแต่ละรายโดยตรง เพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์

ด้านแนวทางการบริหารและติดตามกำกับดูแลโครงการ ธ.ก.ส. ได้ตั้งคณะกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กลยุทธ์และแนวทางการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 2.คณะกรรมการบริหารโครงการ ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ กลยุทธ์และแนวทางที่กำหนด

และ 3.คณะกรรมการประสานงานและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานตามโครงการในภาคสนาม ซึ่งจะมีชุดปฏิบัติการอีก 9 ชุดย่อย ประจำฝ่ายกิจการสาขาของ ธ.ก.ส. 9 ฝ่าย นอกจากนี้ คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามกำกับและบริหารความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการรับจำนำของ ธ.ก.ส.โดยมีกรรมการ ธ.ก.ส. 3 คนร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย

ส่วนนโยบายพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้มีหนี้เกิน 500,000 บาท ธ.ก.ส.จะพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าโดยไม่ต้องชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-30 ก.ย.57 พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรพักหนี้อย่างครบวงจร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต และพัฒนาความรู้ในการประกอบอาชีพ ให้มีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระหรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เกิดจากเหตุสุจริตและจำเป็น หรือลูกค้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีภาระหนี้ค้างรายละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 639,589 ราย ต้นเงินกู้คงเป็นหนี้ 77,753.17 ล้านบาท โดยช่วงที่พักชำระหนี้ลูกค้าไม่มีสิทธิ์ขอกู้เงิน รวมทั้งจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพตลอดระยะเวลาการพักหนี้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวตลอดระยะเวลา 3 ปี จำนวน 14,194.61 ล้านบาท ธ.ก.ส. จะนำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในการอนุมัติค่าใช้จ่ายและวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรต่อไป

ธ.ก.ส. จะดำเนินโครงการสวัสดิการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่ดี ตามมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมลูกค้าชั้นดีของ ธ.ก.ส. โดยจัดทำประกันชีวิตให้แก่ลูกค้าชั้นดีที่มีหนี้ปกติ วงเงินประกันรายละไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ค่าเบี้ยประกันรวมประมาณ 3,600 ล้นบาท เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกค้าที่ดีของ ธ.ก.ส.และแบ่งเบาภาระหนี้สินให้แก่ครอบครัวกรณีลูกค้าเสียชีวิต การดำเนินโครงการในปีแรกจะมีลูกค้าที่ได้รับการคุ้มครอง จำนวน 2.5 ล้านราย ค่าเบี้ยประกันปีแรกประมาณ 1,045 ล้านบาท ส่วนในปีต่อไปคาดว่าจะมีการเพิ่มของลูกค้าในโครงการเฉลี่ยร้อยละ 5


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ