นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง เผยสั่งล้มประมูลโครงการบัตรเครดิตชาวนา พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาแนวทางโครงการใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้โครงการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ อาจต้องเลื่อนไปเป็นปี 55
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)วันนี้ ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับบัตรสินเชื่อเกษตรกร (บัตรเครดิตชาวนา) ซึ่งเดิมมีการกำหนดคุณสมบัตรของบัตรและการใช้งานที่มากเกินความจำเป็น ที่เป็นการใช้เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด และมีไมโครชิป ซึ่งเป็นบัตรเครดิตเต็มรูปแบบ เพราะบัตรเครดิตชาวนา คงไม่เหมือนบัตรเครดิตทั่วไป เพราะการชำระเงิน 1 รอบบัญชี ใช้เวลา 6 เดือน หลังได้รับเงินสินเชื่อ ซึ่งธุรกรรมคงไม่ซ้ำซ้อนมากเท่าบัตรเครดิตปกติ
นายธีระชัย กล่าวว่า บัตรเครดิตชาวนาควรจะมีการจัดกระบวนการกำหนดคุณสมบัติใหม่โดยเน้นการประหยัดงบประมาณ เพราะใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งอาจอาศัยในรูปแบบการใช้ของบัตรเอทีเอ็ม จึงอาจกำหนดคุณสมบัติจากบัตรสมาร์ทการ์ดมาเป็นบัตรแบบแถบแม่เหล็ก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก จากเดิมที่ตั้งงบประมาณดำเนินการ 1,000 ล้านบาท จากการหารือร่วมกัน คาดว่าในเดือน ม.ค.น่าจะเริ่มดำเนินการได้ "สำหรับกระบวนการประมูลเดิมก็ให้ยกเลิกไปก่อน เพราะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติใหม่ โดยให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการจัดให้ย่อลง...เท่าที่หารือนายกฯ รองนายกฯกิตติรัตน์ เห็นว่าควรทำให้ดี เรียบร้อย มีความมั่นคง มีเสถียรถูกต้องแม่นยำ โดยไม่ได้บังคับว่าต้องใช้ให้ทันภายในฤดูการผลิตนี้นี้ แต่ไม่ควรช้าไปกว่าการเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.54" นายธีระชัย กล่าว
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า แม้จะต้องมีการเริ่มกระบวนการจัดทำบัตรเครดิตชาวนาใหม่ แต่หลักการยังคงเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบบัตรเป็นแบบแถบแม่เหล็ก แต่ต้องมีการวางระบบการปลอมแปลงให้มากขึ้น เพราะต้องมีขั้นตอนในการพิสูจน์ตัวบุคคล และกำหนดวัตถุประสงค์การใช้บัตรที่จำกัดเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่กำหนดไว้ เริ่มจากร้านค้าสหกรณ์ และร้านค้าในเครือข่าย ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ดำเนินการที่ 1,080 ล้านบาท อาจจลดลงได้บ้าง จากเดิมกำหนดค่าจัดทำบัตร 360 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนของบัตรแบบสมาร์ทการ์ด มีไมโครชิป มีต้นทุนประมาณ 30 บาท/ใบ แต่บัตรแบบแถบแม่เหล็กมีต้นทุนไม่เกิน 10 บาท/ใบ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการวางระบบการปลอมแปลงให้รัดกุม ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ธ.ก.ส.โดยใช้วิธีพิเศษ คาดว่าจะประมูลแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แต่กระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลา จึงคาดว่ามีความพร้อมใช้บัตรชาวนาได้ในเดือน เม.ย.54
สำหรับการประมูลวางระบบและออกบัตรเครดิตชาวนาในครั้งแรก มีผู้ยื่นรับซองประกวดราคา 13 ราย และยื่นประมูล 5 ราย ผ่านการคัดเลือก 3 ราย แต่หลังคณะกรรมการมีมติให้เริ่มกระบวนการใหม่ ผู้ที่ยื่นประมูลรายเดิม สามาราถยื่นประมูลได้ใหม่ และไม่น่ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการประกาศผู้ชนะการประมูล