นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) วันนี้มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยให้ทยอยลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และก๊าซหุงต้ม(LPG)ทั้งภาคขนส่งและภาคครัวเรือน หลังสิ้นสุดกำหนดเวลาตรึงราคาที่จะขยายออกไปอีกระยะหนึ่ง
โดยให้ขยายเวลาตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือนให้ขยายเวลาตรึงราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ออกไปจนถึงสิ้นปี 55 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ ส่วน LPG ภาคขนส่ง ให้ขยายเวลาตรึงราคาออกแค่วันที่ 15 ม.ค.55 เพื่อรอความพร้อมเรื่องการออกมาตรการบัตรเครดิตพลังงาน หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.55 ให้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG ภาคขนส่งให้ทยอยปรับขึ้นทุกเดือนในอัตรากิโลกรัมละ 75 สตางค์ หรือลิตรละ 41 สตางค์ รวมถึงให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ LPG ภาคปิโตรเคมีในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้เพิ่มเดือนละ 180 ล้านบาท
ส่วน NGV ให้ขยายเวลาตรึงราคาออกแค่วันที่ 15 ม.ค.55 เช่นกัน เพื่อรอความพร้อมเรื่องการออกมาตรการบัตรเครดิตพลังงาน หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.55 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาทุกเดือน(16 ม.ค.-ธ.ค.55)ในอัตราอัตรากิโลกรัมละ 50 สตางค์ พร้อมทั้งทยอยปรับลดการชดเชยลงเดือนละ 50 สตางค์/กิโลกรัม จำนวน 4 ครั้ง(16 ม.ค.-เม.ย.55)
"หากดำเนินการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ก๊าซ NGV และแนวทางปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวจะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 3,877 ล้านบาท" นายพิชัย กล่าว
ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กลับมาเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ประเดิมลิตรละ 1 บาท และดีเซล ลิตรละ 60 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.55 โดย กบง.จะพิจารณาระยะเวลาการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาสถานะกองทุนที่ติดลบ พร้อมทั้งเห็นชอบให้ยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ตั้งแต่เดือน ต.ค.55 เป็นต้นไป
"สถานะกองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกได้แน่นอนในปี 55" นายพิชัย กล่าว