นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เผยเตรียมหยิกยก 4 ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)
โดยประการแรกเป็นเรื่องความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการส่งออก แม้ขณะนี้ตลาดส่งออกหลักของไทยกว่า 30% จะอยู่ในอาเซียน แต่ก็ยังไม่สามารถทิ้งตลาดหลักอย่างยุโรปที่มีสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ 10% ได้ และไม่แน่ใจว่า สหภาพยุโรปจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่ โดยขณะนี้มีสัญญาณว่ายอดคำสั่งซื้อสินค้าเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ทำให้การส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะลดลงราว 10% ส่วนการส่งออกในปีนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 20% หรือไม่
ประการต่อมาเป็นเรื่องมาตรการฟื้นฟูหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ทั้งในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และมาตรการการรับจำนำข้าว ซึ่ง กกร.เป็นห่วงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกข้าวในตลาดโลก รวมถึงเม็ดเงินที่จะใช้ในการรับจำนำ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบที่ชัดเจน และข้อเสนอแนะที่จะมีต่อรัฐบาล
และประการที่สาม คือ มาตรการปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน กกร.เห็นว่าจะกระทบเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ระยะยาว และขีดความสามารถแข่งขันของประเทศให้ถดถอยลงมาก จึงยืนยันที่จะให้มีระยะเวลาในการปรับขึ้นค่าแรง พร้อมเปิดทางให้มีมาตรการอื่นๆ เสริม เช่น ให้สามารถนำสวัสดิการที่จัดให้มาคำนวณเป็นค่าแรงได้
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ ได้หารือแล้วยืนยันที่จะดูแลลูกค้าอย่างดีที่สุด โดยจะมีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
นายชาติศิริ ยอมรับว่า ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดเงินในระดับหนึ่ง และเชื่อว่าจะกระทบต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไม่มาก และคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทางอ้อม ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า ผู้ส่งออกแห่กู้เงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าไทยย่อมเป็นไปตามสภาพตลาด และมีการกู้เงินสกุลดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจริงแต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ไม่ควรมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อในปีหน้า
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ นายชาติศิริ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง. แต่มองว่า ขณะนี้แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้