(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 4.03%,Core CPI เพิ่มขึ้น 2.92%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2011 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ก.ย.54 อยู่ที่ 112.86 เพิ่มขึ้น 4.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่ลดลง 0.33% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.54 โดยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 9 เดือนของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.54) เพิ่มขึ้น 3.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ก.ย.54 อยู่ที่ 106.75 เพิ่มขึ้น 2.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ย.54 อยู่ที่ 135.95 เพิ่มขึ้น 0.65% จากเดือน ส.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.84% ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.59 ลดลง 0.96% จากเดือน ส.ค. และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.07%

นายยรรยง กล่าวว่า ตัวเลข CPI เดือนก.ย.54 ที่ลดลง 0.33% จากเดือนส.ค.54 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลง 0.96% เช่น การลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าโดยสารสาธารณะ, ราคาวัสดุก่อสร้าง, อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือนก.ย.54 ที่สูงขึ้น 0.65% จากเดือนส.ค.54 มีสาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาผักผลไม้, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, เครื่องประกอบอาหาร, อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 54 ยังอยู่ในระดับ 3.2-3.7% ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อจากมาตรการของภาครัฐด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชนลดลงตาม

นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนก.ย.ชะลอตัวลง ยังมีสาเหตุมาจาก ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจของตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีปัญหา ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานลดลง และทำให้ต้นทุนการผลิต-การนำเข้าสินค้าถูกลง แนวโน้มที่สินค้าจะปรับขึ้นราคาจึงมีน้อย นอกจากนี้ราคาอาหารมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตดีขึ้น และการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า(19 ต.ค.54)

"ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไปจากนี้ คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงที่เราคาดการณ์ไว้เดิม(3.2-3.7%)" นายยรรยง ระบุ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.21% นั้น ยังถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ในปีนี้ ที่กำหนดไว้ในช่วง 0.5-3.0%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า จากความกังวลที่ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ยังไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ ซึ่งเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.54 ปรับตัวลดลงจากเดือนส.ค.54

"ปัจจัยที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ ทั้งการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 ค่าแรงขั้นต่ำ 300 การรับจำนำข้าว 15,000-20,000 บาท นโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก แม้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่ยังไม่ปรากฎผลต่อเงินเฟ้อในช่วงนี้" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ