ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาข้าวส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการประกาศมาตรการรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดในการดำเนินการ ส่งผลให้ราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับใกล้เคียงกับราคารับจำนำที่รัฐบาลประกาศ
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งเพิ่มปัจจัยกังวลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวต้องเร่งนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้บริโภคถ้าต้องเผชิญกับภาวะอุทกภัย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ จากสภาพอากศแปรปรวนอาจส่งผลให้ชาวนาในบางพื้นที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน และรัฐบาลอาจต้องพิจารณาขยายมาตรการรับจำนำข้าวนาปีออกไปอีก 1-2 เดือนเช่นกัน(จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสิ้นสุดเดือนเมษายน) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลผลิตข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 3/54 (ผลผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งปี) ซึ่งมีผลต่อทิศทางราคาข้าวในช่วงเหลือของปี 2554 และช่วงต้นปี 2555
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน 2554 ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนกันยายนลดลงมาแตะที่ระดับ 129.73 หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม(MoM) หรือหดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้ชาวนาต้องเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งความชื้นสูงถึงร้อยละ 20-30 จากที่โดยปกติความชื้นควรอยู่ในระดับร้อยละ 15 ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง
ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีในเดือนกันยายนอยู่ในระดับ 189.29 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY)
ดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 184.57 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 MoM และร้อยละ 10.9 YoY เนื่องจากบรรดาโรงสีเร่งกว้านซื้อข้าวเก็บเข้าสต็อกในช่วงผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ออกสู่ตลาด และการคาดการณ์ว่าราคาข้าวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศมาตรการรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ตุลาคม 2554
ดัชนีราคาข้าวส่งออก 5% ทั้งของไทยและเวียดนามในเดือนกันยายน 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น และ 161.71 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และ 20.3 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2554 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เนื่องจากการขยับขึ้นรับมาตรการจำนำข้าว กอปรกับความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกในช่วงปลายปี จากที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ดัชนีราคาข้าวของไทยหดตัวร้อยละ 0.6 ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเดือนกันยายนราคาข้าวส่งออกของไทยในตลาดโลกเริ่มขยับออกห่างจากข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 40-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) เมื่อเทียบกับในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าเวียดนามเพียงประมาณ 5-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทข้าว)เท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวส่งออกของไทยในเดือนกันยายนปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการขยับขึ้นของราคาข้าวของประเทศคู่แข่ง สำหรับในเดือนกันยายนนี้ เริ่มมีรายงานราคาข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติ(ข้าวขาวและข้าวนึ่ง) โดยคาดว่าอินเดียจะเริ่มส่งออกข้าวในเดือนเมษายน 2555 ในปริมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งเท่ากับประเทศผู้ซื้อข้าวเริ่มมีทางเลือกในการซื้อข้าวมากขึ้น