เอกชนชี้ตลาดรับสร้างบ้านช่วงที่เหลือของปีชะลอตัว จากหลายปัจจัยเหนือคาดหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2011 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมไทยรับสร้างบ้าน(THCA) เผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศช่วงไตรมาส 3(ก.ค.-ก.ย.54) มีกำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภคทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสองไตรมาสแรก สวนทางกับคาดการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาน้ำท่วม, ความไม่ชัดเจนของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของรัฐบาล, พฤติกรรมการอยู่อาศัยบ้านเดี่ยวถดถอย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจรับสร้างบ้านถูกสั่นคลอน

"ปกติช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีนับเป็นช่วงไฮซีซั่นหรือช่วงปลุกตลาดของภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดขึ้น เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและมีการแข่งขันของบรรดาผู้ประกอบการกันอย่างคึกคักทุกๆ ปี แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าแรงซื้อและบรรยากาศแผ่วลง สาเหตุเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ด้านการเมืองที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ฯลฯ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาส 3 สมาชิกสมาคมฯ ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม ฯลฯ ยังสามารถฝ่ากระแสน้ำท่วมและมีสัดส่วนยอดขายเติบโตกว่าภูมิภาคอื่น ขณะที่ยอดขายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของสมาชิกสมาคมฯ ยังมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับทุกภูมิภาค

โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.54) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมียอดขายบ้านต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เพราะต่างประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้านปีนี้จะขยายตัว แต่ละรายจึงมีแรงกดดันสูงในการแข่งขันช่วงไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้นสวนทางจากการปรับตัวของราคาค่าขนส่งและวัสดุก่อสร้าง

ส่วนการแข่งขันนั้นพบว่ากลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านเปิดฉากกระหน่ำแคมเปญและโปรโมชั่นกันตั้งแต่เดือนแรกของไตรมาส 3 เช่น แถมทองคำหนัก 10-30 บาท แจกรถยนต์มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท มอบส่วนลดราคาบ้าน 10-15% ฯลฯ ทำให้บริษัทรับสร้างบ้านหลายรายต้องปรับกลยุทธ์หนีการแข่งขันราคา เช่น ไปจับตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือลูกค้ากลุ่มบนระดับราคา 10-20 ล้านบาทขึ้นไป ฯลฯ แต่ในอนาคตลาดบนก็คงหนีไม่พ้นการแข่งขันราคาอีกเช่นเคย หากขนาดของตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมไม่มีการขยายตัว โดยความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับบนมีสัดส่วนคิดเป็น 2-3% ของตลาดรวมทั้งหมด

"หากผู้ประกอบการต้องการจะหนีการแข่งขันราคา ก็จำเป็นจะต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สมาคมฯ มองว่ามิใช่แค่ดีไซน์แบบบ้านหรือคุณภาพเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการรายไหนๆ ก็ทำได้ ฉะนั้นทางออกคือ ผู้ประกอบการควรร่วมมือกันอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อสร้างตลาดรับสร้างบ้านในทุกระดับราคาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ สมาคมฯ ประเมินว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจากผลกระทบภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น หรือมีความเป็นไปได้พอๆ กันที่จะกลับมาฟื้นตัวภายหลังน้ำลดลง ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหา และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพความเสียหาย รวมทั้งเร่งกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศให้ขยายตัวในช่วงท้ายปี อีกส่วนหนึ่งคือโครงการประชานิยมที่รัฐบาลผลักดันออกมา จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับความต้องการส่วนใหญ่และก่อให้เกิดผลดี ทั้งกับภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น โครงการบ้านหลังแรก

สำหรับตลาดรับสร้างบ้านอาจแยกมองออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยทั่วไปการแข่งขันราคายังคงรุนแรง เพราะมีจำนวนผู้ประกอบการอยู่ในตลาดนี้จำนวนมาก ถึงแม้ว่ากำลังซื้ออาจจะไม่ลดลง แต่แชร์ส่วนแบ่งก็กระจายกันออกไป สิ่งสำคัญคือ คู่แข่งในธุรกิจใกล้เคียงหรือสินค้าทดแทน เช่น คอนโดมิเนียม บ้านมือสอง อาจกลายเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบกับภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนเมืองที่ครอบครัวเล็กลงเปลี่ยนไปนิยมที่อยู่อาศัยขนาดเล็กลง, ผลจากต้นทุนค่าก่อสร้างและราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคหันมาพิจารณาซื้อบ้านมือสองแทนสร้างบ้านใหม่ เป็นต้น

ส่วนตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางอีกหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม คาดว่ากำลังซื้ออาจไม่ฟื้นคืนกลับมาทันในช่วงท้ายปี ดังนั้นเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ทำตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด จำเป็นจะต้องหันไปขยายตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อมาชดเชยกับปริมาณและมูลค่ายอดขายที่หายไป อย่างเช่น พื้นที่ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก สะท้อนมุมมองต่อการพัฒนาตลาดรับสร้างบ้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการถึงความรู้ความเข้าใจเพื่อรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ายังไม่ได้ศึกษาและอยู่ระหว่างศึกษามากถึง 63% ขณะที่มีผู้ประกอบการเพียง 18% เท่านั้นที่ระบุว่าพร้อมแล้ว

"ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านส่วนใหญ่หรือประมาณ 81% ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่เวทีการแข่งขันภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังนั้นผู้ประกอบการควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปี 3 เดือนเท่านั้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน ควรจะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ พร้อมๆ กับสร้างตลาดรับสร้างบ้านให้เติบโตหรือขยายออกไปทั่วประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจะได้ขยายการลงทุนไปสู่ตลาดต่างจังหวัด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง มิใช่ยังมุ่งจะแข่งขันกันอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

"สมาคมฯ มีความตั้งใจที่จะผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเน้นสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ให้เข้ามาสู่ระบบอย่างถูกต้องและมีความเป็นมืออาชีพ หวังมามาทดแทนรายเดิมที่อยู่มานานแต่มีทัศนคติแบบเก่าๆ และไม่เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีใช้น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก่อนประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" นายสิทธิพร กล่าว

สำหรับปัญหาน้ำท่วมกลายปัจจัยลบที่มีผลกระทบตลอดปี โดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อนว่าจะได้รับความรุนแรงมากขนาดนี้ ผลจากภัยน้ำท่วมในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาและไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่าความต้องการสร้างบ้านหรือกำลังซื้อจะลดลง รวมถึงอาจจะสร้างความเสียหายกับงานระหว่างก่อสร้างของผู้ประกอบการตามมา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้

นายสิทธิพร กล่าวว่า ตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ยังเป็นการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลัก แต่เชื่อว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งจากกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจสื่อยังให้ความสนใจที่จะรุกตลาดรับสร้างบ้านในอนาคต

"หากผู้ประกอบการยังไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและก้าวสู่ตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ หรือตลาดในภูมิภาคของประเทศที่ห่างไกลออกไปได้ อาจจะไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรมากมาย แต่ถ้าในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2558 ประเทศไทยจะเปิดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อนั้นผู้ประกอบการที่ไม่อาจปรับตัวเอง ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถแข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านได้อีกต่อไปหรือไม่" นายสิทธิพร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ