"เบอร์นันเก้"เผยเฟดพร้อมกระตุ้นศก.อีก เตือนลดใช้จ่ายมากไปอาจกระทบศก.

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 5, 2011 08:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจของสภาคองเกรสเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทยว่า เฟดพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

เบอร์นันเก้คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ อาจจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย. พร้อมระบุว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการเงินในปี 2551 แล้ว แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะหนุนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้แข็งแกร่งขึ้นได้ เนื่องจากอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูงมากและตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังคงฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจนถึงขณะนี้

"ภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังอย่างมากในการใช้จ่าย นอกจากนี้ การที่ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงและมูลค่าสินค้าทางการเงินปรับตัวลดลง ยังทำให้ความมั่งคั่งในภาคครัวเรือนของสหรัฐลดน้อยลงด้วย" เบอร์นันเก้กล่าว

เบอร์นันเก้กล่าวว่า "การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังใกล้ถึงจุดสะดุด" ขณะที่สถานการณ์ว่างงานในสหรัฐถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเงินเฟ้อ หลังจากมีรายงานว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก และภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะลดการจ้างงานในระยะใกล้

เบอร์นันเก้ยืนยันว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปจนถึงกลางปี 2556 พร้อมกับกล่าวปกป้องการตัดสินใจใช้มาตรการ Operation Twist หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 6-30 ปีวงเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์และขายพันธบัตรอายุ 3 ปีหรือต่ำกว่าออกมาในเวลาเดียวกันและในวงเงินที่เท่ากัน ในการประชุมเฟดเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้ยังเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติของสหรัฐร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายการเงินที่เฟดนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ "ยาวิเศษ" ที่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมกับเตือนสภาคองเกรสว่า การปรับลดงบประมาณลงมากจนเกินไปอาจจะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

เบอร์นันเก้ได้แสดงความวิตกกังวลว่า ปัญหานี้สาธารณะในยูโรโซนกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบธนาคารในยุโรปและตลาดการเงินทั่วโลก พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศยูโรโซนเร่งใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือกรีซตามที่ได้ตกลงกันไว้ในการประชุมเดือนก.ค. สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ