หลายคนมองว่าในยามที่ชาติตะวันตกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่และถูกวิกฤติรุมเร้าจนแทบเอาตัวไม่รอด รวมทั้งไม่สามารถแน่ใจได้ว่า จะกลับมามีเสถียรภาพอีกเมื่อไรนั้น กลุ่มประเทศเอเชียน่าจะเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่จะมาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานั้น เอเชียถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า อีกทั้งยังเป็นพลวัตใหม่ที่มีทีท่าว่า จะโดดเด่นแซงหน้ากลุ่มประเทศรายใหญ่ดั้งเดิมที่โดนมรสุมวิกฤติการเงินซัดกระหน่ำจนแทบจะหมดทางสู้
แต่เอเชียก็มีปัญหาภายในภูมิภาคของตนเองเช่นกัน : เงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงที่น่าจับตา โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ชี้ว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ผนวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับเฉลี่ยของช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในบางประเทศในเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกัน ปัญหาเงินเฟ้อกลับถูกซ้ำเติมจากเม็ดเงินเก็งกำไรที่ไหลทะลักเข้าสู่ภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันตกและการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของกลุ่มประเทศเหล่านั้น
ปัจจัยเหล่านี้บั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและทางเลือกในการใช้นโยบายกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจในเอเชีย และในขณะที่แรงงานบีบให้นายจ้างขึ้นราคาให้ทันกับราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้น แต่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็จะนำไปสู่ราคาสินค้าที่สูงขึ้นในที่สุด นับเป็นวงจรที่กระทบกันไปมาเป็นลูกชิ่งที่แก้ไขได้ยาก
ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐและวิกฤติหนี้ในยุโรป ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตน และในเมื่อการส่งออกลดลง ก็แน่นอนว่า ย่อมกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมไปด้วย
ในขณะที่เศรษฐกิจซบ แต่เงินเฟ้อยังแรงต่อเนื่อง ผนวกกับกระแสเงินทุนไหลเข้าและราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูง จึงกล่าวได้ว่า เอเชียกำลังยืนอยู่บนปากเหวที่พร้อมจะร่วงลงสู่ภาวะ stagflation แล้ว
“stagflation" คือ เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา ในขณะเดียวกับที่เกิดเงินเฟ้อ แทนที่จะเป็นเงินฝืด ซึ่งก็คือราคาสินค้าสูง แต่ความต้องการสินค้าไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย และเศรษฐกิจก็แทบหยุดชะงัก
ตัวเลขเศรษฐกิจของเอเชียบ่งชี้ว่า จีนหมิ่นเหม่มากที่สุดที่จะเข้าสู่ภาวะ stagflation แม้ว่าจีนเองก็ต้องการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักเงินเฟ้อ แต่ดัชนีเงินเฟ้อของจีนในเดือนก.ค.ได้ทะลุเพดานไปแล้วที่ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี และแม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงในช่วงเวลาต่อมา แต่ก็ถือว่าจีนยังอยู่ในช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วง ในขณะเดียวกัน เมื่อดูจากความต้องการสินค้าจีนในตลาดโลกแล้ว จะเห็นได้ว่ามีอุปสงค์น้อยลง โดยดัชนี PMI ซึ่งแสดงกิจกรรมการผลิตจากโรงงาน อยู่ที่ 50.9 จุดในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และใบสั่งผลิตสินค้าส่งออกก็ลดลงมาอยู่ที่ 48.3 จุดในเดือนส.ค. จาก 50.4 จุดในเดือนก.ค. ส่วนดัชนี PMI ในเดือนก.ย.ปรับตัวขึ้นสู่ 51.2 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 51.5 จุด
การชะลอตัวของการส่งออกไม่ได้เกิดขึ้นในจีนเพียงประเทศเดียว เกาหลีใต้ก็เผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน โดยดัชนี PMI อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 49.7 จุดในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อทะยานขึ้นไปที่ 5.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี อัตราเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ทะยานขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแล้วและสูงกว่าระดับรายเดือนที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ในปีนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาถึง 5 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพื่อที่จะควบคุมราคาสินค้า ส่วนในเดือนก.ย.นั้น กิจกรรมการผลิตภายในประเทศของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงการหดตัวลงเช่นกัน
เอเชียเผชิญกับศึกจาก 2 ด้าน ทั้งศึกในจากปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้หลายชาติต้องกุมขมับ และศึกนอกจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ, วิกฤติหนี้ยุโรป ตลอดจนเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลง
ปัญหาทั้ง 2 ทำให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายต้องถ่วงดุลความเสี่ยง และทำให้การดำเนินนโยบายยุ่งยากมากขึ้น เพราะในยามที่เศรษฐกิจเริ่มซบเซานั้น หากใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ก็จะไม่ได้ผลอีกต่อไป เนื่องจากจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าพุ่งกระฉูด และกระทบผู้บริโภค ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้น
แต่หากไม่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจถอยหลังเข้าคลอง เพราะพิษจากวิกฤติสหรัฐและยุโรป จะกัดกร่อนการส่งออกของเอเชีย จนทำให้เศรษฐกิจฟุบลงได้ หากไม่หาทางรับมือ ซึ่งงานนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆสำหรับรัฐบาล
เหยื่อรายแรกที่ต้องเซถลาเมื่อเศรษฐกิจส่อเค้าดิ่งลงรุนแรงคือ สิงคโปร์ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทรุดไปแล้วถึง 6.5% ในไตรมาส 2 สวนทางกับที่พุ่งกระฉูด 17% ในไตรมาสแรก
ปัจจัยที่ฉุดกระชากจีดีพีสิงคโปร์ลงไปถึงขนาดนั้นก็คือ ความต้องการสินค้าอิเล็คทรอนิคส์ที่ลดลงอย่างมากในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้การส่งออกของสิงคโปร์ต้องโดนหางเลขไปด้วย ประกอบกับกำลังการซื้อภายในประเทศของสิงคโปร์ไม่แข็งแกร่งพอที่จะผลักดันเศรษฐกิจได้ ลางร้ายจึงปรากฎขึ้นว่า สิงคโปร์อาจจะถลำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 3 ถ้าจีดีพียังไม่เดินหน้าแข็งแกร่ง ซึ่งความหวังก็ยังคงมืดมนอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากตลาดยุโรปและสหรัฐยังไม่พร้อมอ้าแขนรับการเสนอขายใดๆในเมื่อตัวเองก็ยังแทบเอาตัวไม่รอด
แน่นอนว่าในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหารที่ดีดตัวขึ้นย่อมกระทบค่าครองชีพและการใช้จ่ายของประชาชน โดยชาวจีนใช้รายได้ถึงครึ่งหนึ่งไปกับการใช้จ่ายด้านค่าอาหาร ซึ่งการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของจีนนับเป็นปัญหาที่ยากเป็นทวีคูณ เมื่อจีนมียอดเกินดุลการค้าในระดับสูง ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการที่จีนตรึงค่าเงินหยวนไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งในภาวะเช่นนี้ ถือว่าจีนติดกับดักตนเองเข้าให้แล้ว
แต่จีนไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ปวดเศียรเวียนเกล้า เวียดนามกับอินเดียก็โดนเงินเฟ้อซัดจนอ่วมเช่นกัน โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงที่สุดในเอเชีย แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนก.ย.ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 22.4% จาก 23% ในเดือนสิงหาคมก็ตาม ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวครั้งแรกจากที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมา 12 เดือน แต่ก็ยังนับว่าเป็นอัตราที่สูงละลิ่ว ส่วนอินเดียก็มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายปีที่ 8.6%
ยิ่งปัญหาเงินเฟ้อหนักหนามากขึ้นเท่าไร ประชาชนก็มีโอกาสกลายเป็นคนยากจนมากขึ้นเท่านั้น โดยเอดีบีเคยเตือนว่า หากราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10% ก็จะทำให้ประชาชนถึง 64 ล้านคนต้องตกอยู่ในกลุ่มประชากรยากจน และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร 20% จะทำให้ประชาชน 129 ล้านคนกลายเป็นคนยากจน
แม้ปัญหาเงินเฟ้อในไทยจะไม่โดดเด่นเหมือนในบางประเทศเพราะมีการปรับตัวรับกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน
ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.43% เทียบรายเดือน ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 4.29% เพิ่มขึ้นจาก 4.08% ในเดือนก.ค. ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.85% ในเดือนส.ค.เทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี เทียบกับ 2.59% ในเดือนก.ค.
ส่วนในเดือนก.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทยเพิ่มขึ้น 4.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 3.95% ส่วน CPI เดือนก.ย.เทียบกับเดือนก่อนหน้า ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน โดยลดลง 0.33%
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า CPI ที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มีสาเหตุสำคัญมาจากดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ลดลง 0.96% เช่น การลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าโดยสารสาธารณะ, ราคาวัสดุก่อสร้าง, อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือนก.ย.ชะลอตัวลงยังมีสาเหตุมาจากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น, ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานลดลง และทำให้ต้นทุนการผลิต-การนำเข้าสินค้าถูกลง ดังนั้น แนวโน้มที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นจึงมีน้อย นอกจากนี้ ราคาอาหารยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปลายปีจะมีผลผลิตมากขึ้นและคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า (19 ต.ค.54) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงขึ้น
ส่วนภาวะน้ำท่วมไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากผักสดและผลไม้มีสัดส่วนเพียง 1.4% ของตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.21% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ในช่วง 0.5-3.0%
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สำหรับความกังวลที่ว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มรายได้ประชาชน จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ยังไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนี้
คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 54 ยังอยู่ในระดับ 3.2-3.7% ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้ โดยมีปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อจากมาตรการของภาครัฐด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชนลดลงตาม
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 9 ครั้ง ในการประชุม 10 ครั้งหลังสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 3.50% โดยกนง.เหลือการประชุมในปีนี้อีก 2 ครั้ง ในเดือนต.ค.และพ.ย.
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อให้เวลารัฐบาลในการปรับสมดุลเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ เนื่องจากยังไม่มีการเก็งกำไรเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย ในขณะที่การเพิ่มรายได้ของประชาชนขึ้นมาอีกเล็กน้อย จะไม่ทำให้เกิดการเก็งกำไรในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยจะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปซื้อสิ่งที่จำเป็นมากกว่า
เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ stagflation หลายประเทศได้เลือกที่จะตั้งเป้าเพื่อลดเงินเฟ้อให้ได้ จนกลายเป็นภารกิจอันดับ 1 ไป จีนได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายระลอก ขณะเดียวกันก็สกัดการปล่อยกู้ของแบงก์พาณิชย์ที่มากเกินไป โดยหวังว่าเงินเฟ้อจะลดลงในครึ่งปีหลัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ขณะที่หลายประเทศเลือกที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่การทำเช่นนั้นในจีน กลับทำให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น การขึ้นค่าแรงจึงกลายเป็นแรงหนุนที่ทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น
แต่หากจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยกลไกนโยบายดอกเบี้ย ก็เหมือนจะยิ่งดึงดูดให้กระแสเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นจากตะวันตกที่เลี่ยงดอกเบี้ยต่ำในสหรัฐและยุโรปไหลทะลักเข้ามาในเอเชียซึ่งทำให้เสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่เหมือนในปีที่แล้ว
ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์ เปิดเผยว่า ธนาคารกลางในเอเชียได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 44 ครั้งนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2553 เพื่อคุมเงินเฟ้อ แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทั่วโลก อาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆระงับการขึ้นดอกเบี้ย
นายเดวิด คาร์บอน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและเงินของดีบีเอสในสิงคโปร์กล่าวว่า เมื่อวิกฤติหนี้ยุโรปปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค. ธนาคารกลางในเอเชียหยุดขึ้นดอกเบี้ย ยกเว้น มาเลเซีย และยังรอดูท่าทีต่อไป ขณะที่การตัดสินใจดำเนินการใดๆมีความยุ่งยากมากขึ้นทุกที
จีนอาจจะเบรกการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน หลังจากที่เงินเฟ้อบรรเทาลงในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า คาดว่าอินเดียจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่การขยายตัวของผลผลิตลดลง
เอดีบีคาดว่า เงินเฟ้อทั่วภูมิภาคจะอยู่ที่ 5.8% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ 5.3% ขณะที่แนวโน้มสำหรับปี 2555 ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.6%
นักวิเคราะห์มองว่า ทางรอดของเอเชีย คงต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เคยใช้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงปี 2553 โดยต้องหันมาพึ่งพาการค้าขายกันเองในกลุ่มอาเซียน, อินเดีย และจีน รวมทั้งต้องพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐ
ในอีกแง่หนึ่งนั้น เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของเอเชียน่าจะยังมีทางเลือกด้านมาตรการต่างๆที่จะรับมือกับภาวะคับขันได้ ในขณะที่ภาวะการคลังของหลายประเทศในเอเชียอยู่ในสถานะที่ดีกว่ารัฐบาลสหรัฐและยุโรป โดยกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนหนี้ต่อทุน ทั้งหนี้ภาครัฐ, สถาบันการเงิน และภาคครัวเรือนในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป
แต่กระนั้นก็ตาม เอเชียยังไม่สามารถเบาใจได้ เพราะถ้ามาตรการ Operation Twist ของสหรัฐที่ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ไม่ส่งผลที่ชัดเจนใดๆ และสหรัฐหันมากระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อไป และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ก็จะทำให้กระแสเงินร้อนไหลทะลักเข้าสู่เอเชียมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น เอเชียที่ยังเดือดร้อนกับปัญหาเงินเฟ้ออยู่ ก็คงต้องยิ่งร้อนรนเพราะเงินร้อนอีกแน่