นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในการสัมมนา"Thailand: Moving Forward with the New Government"ในหัวข้อ"ทิศทางเศรษฐกิจปี 55" ว่า ในปี 55 นโยบายการเงินของ ธปท.ยังจะเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่เสถียรภาพด้านราคา เพื่อป้องกันนปัญหาความไม่สมดุลทางการเงิน โดยมองว่ารัฐบาลไม่ควรเน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่ควรเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ มีความชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.เชื่อว่าในปีหน้าแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและจะเคลื่อนไหวผันผวนทั้งสองทิศทาง
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนจะส่งผลต่อไทยใน 2 ด้านคือ ผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และอีกด้านคือผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาจกระทบผ่านด้านการส่งออก หากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวมากหรือถึงขั้นหดตัว ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง จนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว และส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยชะลอมากตามไปด้วย ดังนั้น ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนได้ 2 ทิศทางตามความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐและกลุ่มยูโรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในปี 55 เศรษฐกิจในเอเชียมีจะยังคงขยายตัวดีกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาค นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังในการเลือกสินทรัพย์ลงทุน
ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น เนื่องจากความอ่อนไหวของการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และอาจผันผวนได้ 2 ทิศทาง ดังนั้นภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบด้านเงินเฟ้อมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอาจทำให้อุปสงค์ของตลาดชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงได้ ส่าวนปัจจัยในประเทศอาจะทำให้สินค้าในประเทศปรับสูงขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย โครงการรับจำนำข้าว การยกเลิกมาตรการค่าครองชีพ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาขนที่ยังอยู่สูง
ทั้งนี้ มองความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายเศรษฐกิจ โดยนโยบายการเงินมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น โดยชั่งน้ำหนักระว่างความเสี่ยงด้านการขยายต้วเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
"ปีหน้านโยบายการเงินยังเป็นแกนหลักในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยคำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และป้องก้นความไม่สมดุลทางการเงินในระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ซึ่งขณะนี้นโยบายการเงินมีความพร้อม หากสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงและต้องการแรงกระตุ้น เนื่องจากที่ผานมา ดอกเบี้ยนโบบายได้พยายามปรับเข้าสู่ระดับปกติพอสมควรแล้ว"นายประสาร กล่าว
ส่วนการดำเนินนโยบายการคลัง ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า จากนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า จะต้องมีความรอบคอบและมีความระมัดระวัง ไม่ควรใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจไทย ขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ และมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่แล้วทำให้ความจำเป็นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง แม้บางคนจะมองความเสี่ยงเศรษฐกิจสูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังกระตุ้นแต่เนิ่นๆ แต่มองว่า นโยบายการคลัง สามารถส่งผ่านเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ดังนั้น ในช่วงนี้ภาครัฐควรเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนแล้วจะทำให้การดำเนินมาตรการส่งผลได้ทันท่วงที
ด้งน้น การใช้จ่ายภาครัฐในปี 55 ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน