ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองปรับกรอบเป้าเงินเฟ้อคลายความจำเป็นเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการกำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 3.0 (เฉลี่ยรายปี และ +/- ร้อยละ 1.5) นับว่าค่อนข้างยืดหยุ่น และให้อำนาจการใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านอุปทานที่มักเกิดขึ้นนอกเหนือการควบคุม อาทิ การปรับตัวของราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์ อันทำให้อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับทิศรวดเร็วกว่า

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นข้อเสนอการกำหนดกรอบที่ร้อยละ 3.0 เฉลี่ยรายปี และ +/0 ร้อยละ 1.5 หรือมีช่วงความเคลื่อนไหวที่ร้อยละ 1.5-4.5 ซึ่งกว้างขึ้นกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปัจจุบันที่ร้อยละ 0.5-3.0 ก็นับว่าเป็นกรอบที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม และทำให้ กนง.คงจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้นในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การกำหนดจุดยืนหรือค่ากลางที่ร้อยละ 3.0 ก็นับว่ามีความสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดระยะเวลาของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยที่ประมาณร้อยละ 2.6

อย่างไรก็ดี การประเมินว่าการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะมีความเหมาะสมกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ คงจะต้องอาศัยการตรวจสอบสมดุลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคผ่านกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพด้านอื่นๆ ประกอบด้วย โดยแม้บัดนี้หรือในระยะสั้น ประเด็นด้านเสถียรภาพจะยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง แต่ระดับหนี้สาธารณะก็ยังไม่สูงเกินกรอบวินัยการคลัง อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีระดับสูงก็บ่งชี้ถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้ การเติบโตของสินเชื่อในภาคสถาบันการเงินก็ยังไม่ถึงกับเร่งขึ้นจนเกิดภาวะฟองสบู่

ดังนั้น การพิจารณาปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 55 ก็ดูเสมือนว่าน่าที่จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าในระยะกลางถึงยาว หากรัฐบาลยังคงเน้นการดำเนินนโยบายเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันจะสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น กลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สมดุล คงจะยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่งภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ความท้าทายของการดำเนินนโยบายของทางการคงจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการรักษากรอบวินัยทางการคลัง การดูแลการก่อหนี้ และการควบคุมภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีสมดุลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในด้านนัยต่อนโยบายการเงินในปี 55 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีน้ำหนักชัดเจนมากขึ้น จากปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศ นำโดยการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจสหรัฐ วิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อและอาจลุกลามในกลุ่มยุโรป ขณะที่การปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ตลาดโลกก็เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น

เมื่อประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่แม้อาจยังมีสูง โดยเฉพาะไตรมาส 4/54 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/55 เป็นผลจากมาตรการภาครัฐ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ/ค่าตอบแทนข้าราชการ รวมถึงการทยอยลอยตัวราคาก๊าซ NGV และ LPG ภาคขนส่ง และการกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

แต่ทว่าความเป็นไปได้ที่ลดลงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 54 หลังการเว้นเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซล และราคาน้ำมันตลาดโลกที่อ่อนตัวลง ผนวกกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 55 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ความจำเป็นที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องถึงปี 55 อาจมีลดลง ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของ กนง.ในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.50 ในปัจจุบัน ก็นับว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างมีความสมดุลและเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศในระดับหนึ่งแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ