(เพิ่มเติม) หอการค้าคาด GDP ไตรมาส 3/54 โต 4% ทั้งปี 54 โต 3.6%, คาดปี 55 โต 4.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2011 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/54 จะขยายตัวได้ในระดับ 4% และทั้งปี 54 เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ 3.6% โดยยังคงมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงตามความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวส่งผลให้การบริโภคปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนในปี 55 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับ 4.3% อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังเป็นตัวบั่นทอน รวมถึงต้นทุนการผลิตยังมีความผันผวน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 นี้จะปรับลดลงเหลือ 3.6% จากเดิมเคยประเมินไว้ที่ 4.4% (ช่วง พ.ค.54) โดยสาเหตุที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลดลงเป็นผลสำคัญจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดของประเทศ ซึ่งประเมินผลกระทบน้ำท่วมตั้งแต่เดือน เม.ย.-ปัจจุบัน เป็นมูลค่าผลกระทบราว 1.3 แสนล้านบาท กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ให้ลดลง 1.0-1.3% และหากสถานการณ์น้ำท่วมลุกลามเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ก็อาจจะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ต้องพิจารณาปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 54 ลงเป็นเพราะความกังวลต่อความยั่งยืนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากสถานการณ์ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและสหรัฐฯ

ขณะที่ในปี 55 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.3% ภายใต้สมมติฐานของเศรษฐกิจโลกเติบโต 3-4% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะโต 10.7% ที่มูลค่า 262,884 ล้านบาท นำเข้าโต 13.7% ที่มูลค่า 256,771 ล้านบาท เกินดุลการค้าราว 6,100 ล้านบาท ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าอยู่ที่ 3.8% หรืออยู่ในช่วง 3.5-4% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เหตุที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 4% เป็นเพราะเม็ดเงินจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะเริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าว, โครงการลงทุนในเมกะโปรเจ็กท์ต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 3-4 แสนล้านบาท

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.5-4% เนื่องจากราคาน้ำมันอาจปรับต้วสูงขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 55 และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจะหมดอายุลง ประกอบกับรัฐบาลจะใช้นโยบายลอยตัวก๊าช LPG ส่วนปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3.8%

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการในปีหน้า คือ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะช่วยกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้รัฐบาลต้องหามาตรการเพื่อเยียวยาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบันที่ 3.50% เนื่องจากขณะนี้เห็นสัญญาณจากธนาคารกลางของหลายประเทศต่างเริ่มหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งธนาคารกลางยุโรปมีสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกจึงน่าจะยังเป็นขาลงเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศล่าสุดเดือน ก.ย.54 ได้ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งทำให้ไม่เป็นแรงกดดันที่จะเป็นเหตุให้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้

อย่างไรก็ดี หากในช่วงปลายปีเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 3.25% ได้ ส่วนในต้นปีหน้ามีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 0.50% เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก

ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค.54 ทางภาคใต้ จนถึงล่าสุดที่เกิดน้ำท่วมทางพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง จนถึงภาคกลางนี้คิดเป็นมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นรวม 130,102 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ 1.0-1.3% แยกเป็นผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชน 2,627 ล้านบาท, สิ่งปลูกสร้างสาธารณะ 11,916 ล้านบาท, ผลกระทบด้านการเกษตร 67,763 ล้านบาท, ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม-การค้า-ท่องเที่ยว 45,797 ล้านบาท และผลกระทบอื่นๆอีกเกือบ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังหอการค้าจังหวัด และหน่วยงานราชการในเขตพื้นที่ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมจากภาวะน้ำท่วม พบว่าขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก 12.5%, ได้รับผลกระทบน้อย 25% และไม่ได้รับผลกระทบ 62.5% ส่วนความเสียหายที่ประเมินเบื้องต้นเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา 42 แห่ง ทั้งโรงงาน เครื่องจักร และวัตถุดิบ อาจจะสูงถึง 25,000-30,000 ล้านบาท รวมค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาสในช่วงหยุด 3 เดือนแล้ว โดยมียอดคนงานในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวประมาณ 16,000 คน

ส่วนผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว พบว่าพื้นที่ประสบภัยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง เนื่องจากในช่วงนี้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านั้นไม่มาก ทำให้ผลกระทบไม่สูงมาก โดยพบว่ามีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย 52.9%, ได้รับผลกระทบมาก 17.6% และได้รับผลกระทบน้อย 29.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ