Analysis: เพราะเหตุใดจึงเกิดม็อบต้าน "วอลล์สตรีท" ?

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 6, 2011 20:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ความเคลื่อนไหวเพื่อยึดครองพื้นที่ในย่านวอลล์ตรีทได้ขยายวงออกไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีสหภาพแรงงานและนักศึกษาเข้ารวมกลุ่มกับผู้ประท้วงอีกหลายพันคนซึ่งเดินขบวนมุ่งหน้าจากสวนสาธารณะซัคคอตตีไปยังจตุรัสโฟลีย์ ในเขตโลเวอร์ แมนฮัตตัน เพื่อต่อต้านความละโมบของวอลล์สตรีท และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

การประท้วงได้ขยายวงจากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มาตั้งแคมป์กันบริเวณตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ไปเป็นความเคลื่อนไหวทั่วประเทศและทั่วโลก ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ม็อบครองวอลล์สตรีท

เศรษฐกิจตกสะเก็ด

โดยปกติแล้ว ความเคลื่อนไหวเชิงปลุกระดมมักจะเกิดขึ้นโดยง่ายในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและถดถอย

เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสว่า เขาเองเข้าใจว่ากลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน นับตั้งแต่ที่อัตราว่างงานอยู่สูงกว่าระดับ 9% และการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง

จริงๆแล้ว หลังจากวิกฤตการเงินขั้นรุนแรงผ่านพ้นไป 3 ปี เศรษฐกิจสหรัฐก็สะดุดอีกครั้ง สถาบันต่างๆ ซึ่งรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่งอย่างโกลด์แมน แซคส์ ต่างก็ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2554 และ 2555 ลง พร้อมกับเตือนว่ายุโรปและสหรัฐกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น

นูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของฉายา "ดร.ดูม" ถึงกับระบุว่า สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งแล้ว หากพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้

ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงเผชิญกับอุปสรรคที่จะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่เกิดภาวะฟองสบู่ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน และอัตราการยึดสินทรัพย์ที่ถูกจำนองไว้ก็เพิ่มขึ้น ประชาชนต้องสูญเสียบ้าน แม้ว่าพวกเขาได้จ่ายเงินจำนองก้อนโตไปแล้วก็ตาม

ขณะที่ตลาดแรงงานก็ซบเซา กลุ่มคนหนุ่มสาวหางานยากขึ้น โดยเบอร์นันเก้ระบุว่า การว่างงานในระยะยาวได้กลายเป็นวิกฤตของประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถหาทางออกได้

ในขณะเดียวกัน กระแสข่าวลบที่เกี่ยวกับวิกฤตหนี้จากยุโรปก็ประเดประดังเข้ามา กรีซใกล้จะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่สเปนและอิตาลีก็มีปัญหาด้านการเงิน สภาพคล่องที่ตึงตัวของธนาคารในยุโรปยิ่งทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อแบงก์ของสหรัฐมากยิ่งขึ้น และประชาชนกลัวกันว่า จะเกิดวิกฤตเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 และบางทีเศรษฐกิจของประเทศก็ใกล้ที่จะเป็นแบบนั้นแล้วก็ได้

แดนนี่ เชชเทอร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความโลภของวอลล์สตรีทและองค์กรธุรกิจ กล่าวกับซินหัวว่า "ผมคิดว่า ทุกคนหวาดกลัว ผู้คนต่างพากันพูดถึงแต่เรื่องการล่มสลายของยุโรป สหรัฐ มีเพียงจีนและเอเชียเท่านั้นที่ยังดูไปได้ดีอยู่ พวกวอลล์สตรีทและเอกชนทำให้ประชาชนหวั่นวิตก และไม่รู้ว่าจะพาตัวเองออกจากวังวนนี้อย่างไร และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วง"

วอลล์สตรีท จะต้องรับผิดชอบ

เพราะวอลล์สตรีทครอบครองความร่ำรวยเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังโลภและทุจริต ด้วยความโลภของวอลล์สตรีท ที่อย่างน้อยก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงิน และเศรษฐกิจถดถอย เมื่อปี 2551 นอกจากนี้ การให้เงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาลเพื่ออุ้มวอลล์สตรีท ก็ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ จริงๆแล้ว วอลล์สตรีทนั่นแหละที่เป็นแมวตัวอ้วนพีที่เอาภาษีประชาชนไปใช้เป็นเงินโบนัส

I          เชชเทอร์ กล่าวว่า "ผมคิดว่านี่เป็นการออกมาแสดงให้เห็นถึงความเหนื่อยหน่ายที่ประชาชนจำนวนมากรู้สึก ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปทั่วโลก และแม้กระทั่งภาวะถดถอยหรือตกต่ำครั้งใหม่ ประชาชนจึงมองว่า วอลล์สตรีทจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงพุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา"

กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อายุไม่ถึง 30 ปี และส่วนมากไม่มีงานทำ บางรายเป็นนักศึกษาที่กู้เงินมามากมาย บ้างก็เป็นผู้ที่ตรากตรำทำงานหนักแต่ต้องสูญเสียบ้านของตัวเอง แม้ว่าพวกเขาจะต้องจ่ายสินเชื่อเพื่อการจำนองไปเป็นจำนวนมหาศาลแล้วก็ตาม พวกเขาต่างพร่ำบ่นว่า ชนชั้นกลางที่ทำงานอย่างหนักนั้นจนลงทุกวัน แต่วอลล์สตรีทกลับยังร่ำรวยอยู่

วิลเลียม โคฮาน อดีตกรรมผู้จัดการเจ.พี. มอร์แกน เชส และผู้เขียน "Money and Power: How Goldman Sachs Came to Rule the world" ชี้ว่า นอกจากวอลล์สตรีทจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากวิกฤตการณ์เมื่อปี 2551 พวกเขายังมาเรียกร้องให้ยกเลิกการปฏิรูปทั้งหมดทั้งปวงที่อาจจะเบรกวงจรอันตรายที่นายแบงก์และเทรดเดอร์รวยขึ้น ขณะที่ประชาชนส่วนที่เหลือต้องรับทุกข์จากความผิดพลาดของคนเหล่านี้"

นักวิเคราะห์เชื่อว่า นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมกฎหมายดอดด์-แฟรงค์ ซึ่งจริงๆแล้วควรที่จะควบคุมวอลล์สตรีท ตลอดจนโบนัสก้อนโต และสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มการจ้างงานและคุ้มครองผู้บริโภค กลับยังค้างเติ่งอยู่ที่สภาคองเกรส และไม่มีรายละเอียดของการดำเนินการ และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ประท้วงจึงได้เรียกร้องให้มีการกำจัดอิทธิพลของเงินที่สกปรกออกไปเสียจากการเลือกตั้ง

เฉียว จีหง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก ม็อบ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ