นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมอาจส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงประมาณ 5% จากปกติที่ผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 24-25 ล้านฟองต่อวัน(+/-) เนื่องจากมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยกระจายอยู่ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ประมาณ 60-80 ราย พื้นที่ลุ่มแม่น้ำน้อยทั้งฝั่งตะวันออก คือ จ.พระนครศรีอยุธยา และฝั่งตะวันตก คือ จ.อ่างทอง ประมาณ 20-30 ราย นอกนั้นก็มีฉะเชิงเทรา อ.บางคล้า อ.ราชสาสน์ อ.บางน้ำเปรี้ยว มีผู้เลี้ยงไก่รายเล็กๆค่อนข้างมาก
"พื้นที่ฉะเชิงเทราก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเหมือนกันแต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนแถบภาคกลาง" นายมาโนช กล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรรายย่อยค่อนข้างเดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องการขนย้ายไก่ไม่ทัน พื้นที่ที่น้ำไปไม่ถึงก็มีปัญหาเรื่องการลำเลียงอาหารสัตว์ เนื่องจากถนนถูกตัดขาด
"ปัญหาที่เกิดคือโกลาหลในการขนย้ายหนี เคลื่อนย้ายอาหารสัตว์ ลำบากมาก บางรายเดือดร้อนหนักจนถึงขั้นเรียกรถมารับซื้อไก่ไปเลย เพราะไม่อยากเลี้ยงแล้ว"
นายมาโนช กล่าวว่า ความยากลำบากในการเลี้ยงไก่ไข่คือ การดูแลความปลอดภัยในทั้งอาหารและน้ำ ดูแลเรื่องสภาพอากาศ โรคระบาด ไม่ให้น้ำท่วมฟาร์ม
ด้านความช่วยเหลือเบื้องต้น ทางสมาคมฯ ได้มีการประสานไปทางบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้า และสมาชิกชมรมในการสนับสนุนอุปกรณ์และรถสำหรับขนย้าย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทเหล่านี้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม อุทกภัยที่เกิดขึ้นไม่น่าจะทำให้ราคาไข่ไก่ในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นจากราคาหน้าฟาร์ม แต่ถ้าพบว่าราคาไข่ไก่แพงขึ้นในบางจุดแสดงว่าเป็นการฉวยโอกาสของผู้ค้าบางรายเท่านั้น
ปัจจุบันราคาไข่ไก่แบบคละคัดพิเศษน้ำหนักเฉลี่ยมากกว่า 60 กรัม/ฟอง ราคาฟองละ 3.10 บาท แบบคละมาตรฐาน น้ำหนักเฉลี่ย 60 กรัม/ฟอง ราคาฟองละ 3.00 บาท
นายมาโนช กล่าวว่า ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้มีการปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย เช่น ราคาข้าวโพด จาก 8 บาท/กก. ขยับเพิ่มเป็น 9 บาท/กก. ถั่ว จาก 12-13 บาท/กก. ขยับเพิ่มเป็น 14 บาทกว่า/กก. แต่เกษตรกรยังพอรับได้
ส่วนการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวเปลือกขยับสูงขึ้นอีกหรือไม่ต้องติดตามใกล้ชิด แต่ถ้าข้าวเปลือกแพงมาก ก็ให้กินอาหารสัตว์ประเภทอื่นทดแทน