SCB EIC คาดกนง.อาจไม่ขึ้นดบ.หลังปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 7, 2011 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังมีแนวคิดเบื้องต้นในการปรับเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อจากกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.5-3.0% มาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1.5-4.5% (เป้าหมายที่ 3.0% บวก/ลบ 1.5%) และเปลี่ยนการคิดอัตราเงินเฟ้อจากค่าเฉลี่ยรายไตรมาสเป็นค่าเฉลี่ยรายปี ซึ่งจะมีการนำแนวคิดนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปว่า หากเปลี่ยนการคิดเป้าหมายเงินเฟ้อมาเป็นค่าเฉลี่ยรายปี จะทำให้ ธปท. อาจไม่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย

เนื่องจากเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมายเพียงบางเดือน ธปท. อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกครั้งที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงเกิน 4.5% หาก ธปท. มองว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (เช่นราคาน้ำมัน) มีแนวโน้มปรับลดลงในระยะต่อไปซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยรายปีแล้วยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนด

“เงินเฟ้อทั่วไป" (เป้าหมายใหม่) ต่างจาก “เงินเฟ้อพื้นฐาน" (เป้าหมายเดิม) ตรงที่มีการนำราคาพลังงาน และราคาอาหารสดมารวมด้วย ซึ่งราคาสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้ ธปท. ควบคุมได้ยาก เนื่องจากราคาพลังงานขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคาอาหารสดขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพลมฟ้าอากาศ ดังนั้น ไม่ว่า ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกหรือลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงได้

"หากใช้เป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ จะทำให้มีโอกาสน้อยลงที่ ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า เพราะมีโอกาสไม่มากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดปี 2012 จะสูงกว่า 4.5% โดย EIC ประเมินว่า หากต้องการเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดปี 2012 สูงขนาดนั้น จะต้องเห็นราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2012 อยู่ที่ราว 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2011 ถึงราว 30%) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว" SCB EIC ระบุ

แต่ SCB EIC มองว่าโอกาสที่ ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ยังไม่หมดไป จากตัวเลขล่าสุดของเดือนกันยายน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงไม่ว่าจะเทียบกับเป้าหมายเดิมหรือเป้าหมายใหม่ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.9% ใกล้ชนเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน (เป้าหมายเดิม) ที่ 0.5-3.0% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.0% ก็นับว่าสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป (เป้าหมายใหม่) ที่ 1.5-4.5%

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่ หากใช้อย่างไม่ระวังอาจส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจได้ เช่น กรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะสูงเกิน 4.5% เป็นเวลานาน หาก ธปท. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหวังจะลดอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจได้ เพราะนอกจากราคาน้ำมันหรือต้นทุนการผลิตจะไม่ลดลงแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเจอกับอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ