สกุลเงินยูโรพุ่งขึ้นกว่า 2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) หลังจากนางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธนาคารของยุโรป
ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 2.02% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3645 ดอลลร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3375 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5672 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5558 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง 0.07% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.660 เยน จากระดับ 76.710 เยน และดิ่งลง 2.51% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9035 ฟรังค์ จากระดับ 0.9268 ฟรังค์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 2.19% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9983 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9769 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 2.00% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7838 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7684 ดอลลาร์สหรัฐ
สกุลเงินยูโรพุ่งขึ้นกว่า 2% ขานรับข่าวที่ว่า นางแมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และนายซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธนาคารของยุโรป เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้สาธารณะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร โดยผู้นำยุโรปจะดำเนินการตามมาตรฐานขั้นพื้นฐานและคำนึงถึงความมั่นคงในเชิงระบบเป็นหลัก ซึ่งนางแมร์เคลย้ำว่าจะพยายามผลักดันให้การเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้นโดยเร็ว
นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเยอรมนีและฝรั่งเศส สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดเกินดุลการค้าขยายตัวขึ้นแตะระดับ 1.38 หมื่นล้านยูโร (1.85 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนส.ค. จากระดับ 1.06 หมื่นล้านยูโรในเดือนก.ค. เนื่องจากยอดการส่งออกของเยอรมนีขยายตัว 3.5% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้
ขณะที่สำนักงานสถิติฝรั่งเศส หรือ Insee เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศขยายตัวขึ้น 0.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก.ค.ที่ 1.8% เพราะได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวแข็งแกร่ง
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงดัชนีการจ้างงานเดือนก.ย., ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนก.ย.,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต้นเดือนต.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนส.ค.