ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดวิกฤติน้ำท่วมสูญเสีย 7.5 หมื่น-1.13 แสน ลบ.กดศก.โตแค่ 3.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 11, 2011 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอุทกภัยร้ายแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ต่ำลงจากคาดการณ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ จากความเสียหายที่ลุกลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมอย่างหนัก โดยในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 ต่ำลงจากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3.8 และมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.2

เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และความเสียหายยังมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นจากมวลน้ำที่กำลังไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งสู่ภาคกลางตอนล่าง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการก่อตัวของพายุที่อาจจะพัดเข้าประเทศไทยได้อีก

ทั้งนี้ ประเมินว่าความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)อาจมีมูลค่าสุทธิ 75,000-113,000 ล้านบาท เป็นความเสียหายภาคเกษตร 20,000-30,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 38,000-59,000 ล้านบาท และภาคบริการและอื่นๆ รวม 17,000-24,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่เสียหายหนักที่สุดคาดว่าจะเป็นอยุธยาที่มูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดโดยสุทธิแล้วอาจสูญหายไปถึง 20,000-30,000 ล้านบาท

อุทกภัยร้ายแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ลดลงจากคาดการณ์เดิมถึงร้อยละ 0.69-1.04 ลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 โดยความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4/54 ขยายตัวต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 2.0-3.8 หายไปถึงร้อยละ 2.0-3.2 จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 4.0-5.8

นอกเหนือจากผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่จะตามมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว อาทิ ทิศทางราคาสินค้า ความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรจะส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนที่เหลือของปีสูงกว่าที่เคยคาดไว้ แม้ว่าอาจไม่มีผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีแตกต่างไปจากกรอบคาดการณ์เดิมนัก เนื่องจากเหลือเพียง 3 เดือนสุดท้าย แต่ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่อาจจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน การยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และการปรับมาตรการราคาพลังงาน คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 นี้จะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.8-4.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3-2.6

ความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรม อุทกภัยที่เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นแรงซ้ำเติม โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่น และยังมีหลากหลายปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการรับมือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงปีหน้า จึงนับได้ว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากกำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากในการประคองตัวกลับมาพลิกฟื้นความเสียหายของโรงงาน สถานประกอบการ และเครื่องจักร ขณะที่การหยุดการผลิตก็จะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจ ซึ่งปัญหาดังกล่าวน่าจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกโดยรวมของไทย

การลงทุนจากต่างประเทศ บทเรียนที่เกิดขึ้นนี้อาจมีนัยต่อแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนถึงเสถียรภาพความปลอดภัยของธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยควรมีแนวทางชัดเจนในการป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน

และ ผลที่ตามมาจากอุทกภัยครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลต้องมีการปรับแนวนโยบาย การดำเนินการในบางด้านอาจไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ เช่น การจำนำข้าวที่ผลผลิตข้าวนาปีจำนวนมากต้องเสียหากจากภาวะน้ำท่วม ทำให้มีข้าวเข้าสู่โครงการจำนำน้อยกว่าที่คาด และอาจต้องมีการขยายเวลาจำนำออกไปจากที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2555

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2555 ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากอุทกภัยต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว การวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ