นายกิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แทนนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม กขช.ได้พิจารณา 2 เรื่อง ย้ำเรื่องรับจำนำข้าวที่ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ว่า ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าข้าวที่สามารถเข้าโครงการได้ต้องมีแหล่งผลิตที่มาในเขต (ห้ามข้ามเขต) ยืนยันว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องนั้น แต่จะรับจำนำข้าวจากเกษตรกรทุกเมล็ด
ส่วนข้อมูลเกษตรกรว่าเกษตรกรแต่ละรายมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเท่าไหร่ มีผลผลิตต่อไร่เท่าไหร่นั้น จะนำมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งหากเกษตรกรรายใดมีผลผลิตที่ผิดปกติไปมากก็เป็นเรื่องที่ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) จะนำไปเปรียบเทียบ และหากไม่ต่างไปจากปกติมากก็จะดำเนินการออกใบประทวนและจ่ายเงินให้ภายใน 3 วัน แต่หากพบความผิดปกติจริง ธ.ก.ส.จะแจ้งมาที่กระทรวงพาณิชย์ และถ้ากระทรวงพาณิชย์ไม่ติดใจก็สามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ในทันที แต่หากติดใจสงสัยสามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อผิดสังเกตของ Yield ที่ออกมาของผลผลิตของเกษตรกรแต่ละรายไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะแตกต่างจากครั้งที่แล้วมากน้อยแค่ไหน แต่ให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องที่ กขช. ได้พิจารณาเรื่องความเพียงพอของสินค้า ในหมวดของข้าว โดยก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติให้นำข้าวในสต็อกให้ ธ.ก.ส.และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ผลิตเป็นข้าวขาวบรรจุถุง ขนาด 4 กก. รายละ 7.5 ล้านถุงไปแล้ว รวมทั้งหมด 15 ล้านถุง วันนี้ กขช.มีมติเพิ่มเติมให้กระทรวงพาณิชย์ และ อคส.นำข้าวในสต็อกอีกไม่เกิน 1 แสนตัน แต่ข้าวล็อตใหม่นี้ยังไม่ได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนว่าจะใช้ข้าวจำนวนเท่าไหร่ อาจจะไม่ถึง 1 แสนตัน และยังไม่กำหนดว่าจะผลิตเป็นถุงขนาด 4 กก. หรือ 5 กก.ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในท้องตลาด
"ขอประชาชนไม่ต้องกังวลว่าข้าวจะขาดแคลน"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าความเสียหายเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไหร่ จากเดิมที่มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 8 แสนไร่ ผลผลิตเสียหาย 4.5 ล้านตัน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามพื้นที่ปลูกข้าวยังมีอีกมาก ไม่น่ากังวล
ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก ขณะนี้ยังเงียบอยู่เนื่องจากไม่ใช่ช่วงฤดูกาล แต่เชื่อว่าราคาน่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่ใช่จากแหล่งผลิตได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
"คิดว่าราคาควรต้องสูงกว่าปีที่แล้ว ถ้าเราคิดว่าข้าวเปล่าถูกกว่าน้ำเปล่า มันก็เป็นสิทธิ์อันสมควรที่จะต้องมีราคาสูงขึ้น" นายกิตติรัตน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมี กขช.มติให้นำข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 100,000 ตัน มาผลิตเป็นข้าวสารบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายในช่วงที่ประชาชนวิตกกังวลเรื่องน้ำท่วม และแห่ซื้อกักตุน จนทำให้ข้าวขาดตลาดในบางช่วง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเกิดการขาดแคลน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในการผลิตในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดความขาดแคลนมากก็อาจผลิตไม่ถึง 100,000 ตัน
แต่ในระหว่างการผลิต หากเกิดความขาดแคลน รัฐบาลก็ยังมีข้าวถุงที่ กขช.ได้อนุมัติข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 30,000 ตันก่อนหน้านี้มาผลิต ซึ่งอยู่ที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และสามารถนำเอาออกมาขายให้ประชาชนได้ก่อน และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 7.5 ล้านถุงได้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว