นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกรมสำรวจที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ทั้งหมด มีพื้นที่ใดที่เป็นจุดเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วม หรืออยู่ใกล้จุดเสี่ยงที่เกิดน้ำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้มีการรวบรวมข้อมูลสถิติย้อนหลังให้มากที่สุด เพื่อดูความน่าจะเป็นของความเสี่ยงนั้น รวมถึงให้เก็บข้อมูลของสาเหตุและลักษณะการเกิดน้ำท่วมในแต่ละจุด และศึกษาพฤติกรรมและวัฒนธรรมของชุมชนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ด้วย เนื่องจากจะมีผลต่อการออกแบบนโยบายช่วยเหลือและป้องกันน้ำท่วม เพื่อที่กรมธนารักษ์ จะใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว
นอกจากนี้จะได้มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วมทั้งหมด รวมทั้งกระทรวงต่างๆ สถาบันการเงิน มูลนิธิ และหน่วยงานเอกชนทั้งหมด เพื่อให้เกิดการบูรณาการและกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของกรมธนารักษ์และไม่ให้มีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่คุ้มค่า ประหยัดงบประมาณของรัฐ
อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ที่เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นแล้ว หรือคาดว่าจะเกิดในไม่ช้า จะเน้นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน โดยให้ทางกรมธนารักษ์จัดทำคู่มือให้ธนารักษ์พื้นที่ใช้เป็นแนวทาง หรือ check list ในการให้ความช่วยเหลือราษฎร โดยการจัดหาพื้นที่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์เพื่อเป็นที่หลบภัย หรือ พักพิงชั่วคราว เมื่อไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่พักพิงของตนเองได้
ส่วนระยะกลางและระยะยาว กรมธนารักษ์จะเน้นมาตรการป้องกัน เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยวิธีจัดการ 2 วิธี คือ วิธีที่หนึ่ง “การลดความรุนแรงของน้ำท่วม" และวิธีที่สอง “การลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วม"
โดย การลดความรุนแรงของน้ำท่วม เป็นการดำเนินงานทางด้านวิศวกรรมต่างๆที่จะลดอิทธิพลของน้ำท่วมที่มีต่อประชาชน หรือกล่าวอีกในหนึ่ง เป็นการกันไม่ให้น้ำมาถึงประชาชน โดยกรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการหาพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการสร้างเขื่อน ฝายกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนการดำเนินการขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึงที่เป็นที่ของกรมธนารักษ์ และการปรับปรุงแหล่งกักขังน้ำตามธรรมชาติ และหาพื้นที่ทำเป็นแก้มลิง โดยวิธีการนี้นายนริศ กล่าวว่าเป็น “วิธีผันน้ำหนีคน"
ส่วนการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วม มี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกให้สร้างระบบการทำนายน้ำท่วมที่แม่นยำและการเตือนภัยในระยะเวลาเหมาะสม ซึ่งทางกระทรวงการคลังยินดีที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่มี เทคโนโลยีการคาดการณ์น้ำท่วมที่แม่นยำ ซึ่งเทคโนโลยีน้ำต้องสามารถเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยที่ทันท่วงที แนวทางที่ 2 คือ การจัดทำโซนน้ำท่วม ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่มอบให้เจ้าหน้าที่ศึกษาว่า ถ้าพื้นที่ไหน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมยั่งยืนหรือยากที่จะแก้ไข อาจมีข้อจำกัดไม่ให้ใช้พื้นที่นั้น เพื่อลดต้นทุนของรัฐบาลที่มีภาระต้องเข้ามาช่วยเหลือ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้พื้นที่นั้น จะต้องมีการออกข้อกำหนดเพื่อลดภาระของรัฐ เช่น ถ้าใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยต้องมีการกำหนดรูปแบบและวิธีปลูกสร้างอาคารที่สามารถรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมได้ หรือถ้าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อาจกำหนดให้เกษตรกรที่ใช้พื้นที่ดังกล่าว ซื้อประกันภัยพืชผลอันเกิดจากอุทกภัย เป็นต้น เรียกรวมว่าเป็น “วิธีผันคนหนีน้ำ"
ทั้งนี้จะต้องให้มีการบูรณาการหรือปรึกษาหารือระหว่างธนารักษ์พื้นที่ต่างๆด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพราะการแก้ความสำเร็จในการแก้ปัญหาในพื้นที่หนึ่งอาจสร้างปัญหาให้กับพื้นที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งแนวทางนี้ได้มีการดำเนินการแล้วในระดับหนึ่งผ่านระบบ cluster ของกรมธนารักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินโครงการจัดการน้ำท่วมให้สำเร็จ จะต้องพึ่งท้องถิ่นทั้งในแง่ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาของตนเอง และในแง่ทรัพยากรและงบประมาณต่างๆ ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ทุกคนพยายามหาวิธีประสานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายของกรม และศักยภาพที่เป็นจริงในท้องถิ่น ทั้งในแง่ความรู้ ทรัพยากรและความร่วมมือของคนพื้นที่ เพื่อให้บริหารจัดการน้ำท่วมของกรมธนารักษ์เกิดประโยชน์สูงสุด
"การเปลี่ยนแปลงบทบาทของกรมธนารักษ์ จากการเน้นการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาเมื่อเกิดน้ำท่วม มาเป็น การป้องกันและลดผลกระทบของการเกิดน้ำท่วมในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในที่สุด" นายนริศ กล่าว