ฝ่ายวิจัย TMB คาดน้ำท่วม ทำเงินเฟ้อพุ่งแตะ 5% จากราคาสินค้าปรับสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) เตือนภาครัฐและประชาชนเตรียมตัวรับมือราคาสินค้าพุ่งหลังอุทกภัย ระดับราคาจะเร่งตัวต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสแตะร้อยละ 5 นำโดยการเพิ่มขึ้นของราคากลุ่มอาหารสดที่จะขยับขึ้นถึงร้อยละ 12

โดย วิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้ส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้าง โดยระดับความเสียหายในครั้งนี้สามารถเทียบได้กับปี 2538 ที่ประเทศไทยต้องประสบกับน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดและกินระยะเวลานานถึง 4 เดือน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ประชาชนสามารถรับรู้ได้ทันทีถึงราคาสินค้าที่เพิ่มจากอุปสงค์ที่เร่งตัวอย่างผิดปกติในสินค้าหลัก 2 ประเภท คือ ราคาอาหารและน้ำดื่มที่ปรับขึ้น จากสาเหตุที่ประชาชนเร่งซื้อไปเตรียมกักตุนเพื่อรับสถานการณ์ และวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำ เช่นกระสอบทรายที่ปกติราคาอยู่ที่ 20-30บาท ต่อถุง แต่ราคากลับพุ่งขึ้นเท่าตัวเป็นประมาณ 50 บาท ขณะที่ด้านอุปทานของสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหลักที่โดนน้ำท่วม

ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนี้จะสูงขึ้นมากเพียงไร และจะต่อเนื่องนานเท่าใดนั้น อาจเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในปี 2538 ที่น้ำท่วมมีความรุนแรงมากที่สุดในเดือนตุลาคม ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนจากระดับร้อยละ 5-6 ในช่วงสามไตรมาสแรกของปีนั้น เป็นระดับกว่าร้อยละ 7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ยาวไปถึงต้นไตรมาสสองของปี 2539 หลังจากนั้น เงินเฟ้อจึงค่อยปรับระดับลงมาสู่ภาวะปกติ หรือ ประมาณได้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีอุทกภัยรุนแรงเสริม สูงกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็น ถึงราวร้อยละ 30 และ อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มอาหารสดที่มีสัดส่วนน้ำหนักในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประมาณร้อยละ 15 มีการเพิ่มของระดับราคาในอัตราที่สูงมาก โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดขยับขึ้นถึงร้อยละ 15 ในช่วงปลายปี จากระดับร้อยละ 10 ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น ดังนั้น หากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาที่ได้รับเป็นไปในทิศทางและขนาดเช่นที่ปี 2538

TMB Analytics ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในขณะนี้จะทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 5.1 และ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเป็นร้อยละ 11.9 ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2554 จากอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 4.0 และ 7.9 ตามลำดับในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากปัญหาด้านเงินเฟ้อแล้ว ยังพบว่าวิกฤตน้ำท่วมในช่วงปี 2538 ส่งผลให้ GDP และ การบริโภคในประเทศชะลอตัวถึงสองไตรมาส ซึ่งในปีนี้ ความเสียหายในภาคการผลิตที่รุนแรงจากโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จะรั้งให้ขนาดของการชะลอของเศรษฐกิจ ลงมากกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2538 ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ