In Focusย้อนรอย“ยูโร": "สุข"หรือ“โศก" นาฎกรรมสกุลเงินเดียวของยูโรโซน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 12, 2011 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนึ่งในภูมิภาคที่ทั่วโลกกำลังจับตาด้วยความหวาดหวั่นในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยูโรโซน" และเมื่อพูดถึงยูโรโซน สิ่งที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงก็คงจะเป็น “สกุลเงินยูโร" ซึ่งเป็นสกุลเงินร่วมของยูโรโซนที่ก้าวขึ้นมาสร้างความยิ่งใหญ่ในเวทีเศรษฐกิจโลกในรูปแบบที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสกุลเงินเดียวของภูมิภาคนี้ แต่ยิ่งมีความยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากเท่าใด เมื่อเกิดปัญหาก็ย่อมจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย เปรียบเหมือนกับยักษ์ล้ม ย่อมสั่นสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้า และในปัจจุบัน “ยักษ์" ตนนี้กำลังอ่อนแอและใกล้จะล้มลงทุกที จนคนทั่วไปอดหวั่นใจไม่ได้

ปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติหนี้สินของยูโรโซนที่เกิดขึ้นถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับสกุลเงินยูโรอย่างที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ขณะที่อนาคตยูโรโซนยังคงมืดมนเหมือนไร้ทางออก และแนวทางแก้วิกฤติหนี้ภูมิภาคก็ดูจะไร้ทิศทางที่ยั่งยืนนอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปพลางๆนั้น สิ่งที่มีความชัดเจนโดดเด่นขึ้นมาก็คือต้นตอของปัญหาที่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็เป็นการตอกย้ำข้อกังขาที่มีมาตั้งแต่แรกคลอดยูโรโซน การมองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดและถ่องแท้ถึงปัญหาที่รุมเร้าภูมิภาคที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่จับตาในฐานะกลุ่มประเทศที่มีสกุลเงินเดียวที่ทรงพลังทางเศรษฐกิจ แต่วันนี้กลับกลายเป็นภูมิภาคที่ชาวโลกหวาดวิตกและเฝ้าระวังในฐานะคนป่วยหนักด้วยพิษโรคติดต่อร้ายแรงทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะลุกลามและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา

แรกคลอดสกุลเงินเดียว

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 นับเป็นวันแรกที่มีสกุลเงินยูโรเป็นสกุลเงินใหม่อย่างเป็นทางการ ยูโรเป็นสกุลเงินเดียวของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่เกิดจากแนวคิดเศรษฐกิจเดียว โดยหลังจากที่ได้มีการเจรจากันมาเป็นเวลานาน 11 ชาติสมาชิกอียูก็ได้เห็นพ้องกันในสนธิสัญญามาสตริชท์ (Maastricht Treaty) เพื่อก่อตั้งสหภาพการเงินยุโรป (European Monetary Union หรือ EMU) อันเป็นเขตการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน แต่ได้เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรจริงๆในวันที่ 1 มกราคม 2545 โดยใช้ระยะเวลา 3 ปีในการเตรียมความพร้อมสำหรับชาติสมาชิก ขณะที่มีธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เป็นหน่วยงานบริหารจัดการนโยบายการเงินอย่างอิสระแบบรวมศูนย์ ส่วนนโยบายการคลังที่เกี่ยวกับประเด็นรายได้ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณของชาติเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกของยูโรโซน โดยอยู่ภายใต้กฎระเบียบต่างๆของสหภาพยุโรปด้วย

ในระยะแรกนั้น เป็นที่เชื่อกันว่า ยูโรคือเงินที่จะเข้ามาทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีความแข็งแกร่งอย่างมาก ธนาคารกลางประเทศต่างๆได้พากันหันมาถือครองเงินยูโรไว้ในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ความยิ่งใหญ่ของการใช้เงินยูโรที่เริ่มขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้เงินยูโรกลายเป็นสกุลเงินสำรองรายใหญ่อันดับสอง และเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายหมุนเวียนมากเป็นอันดับสองของโลกด้วย โดยบางช่วงยังแซงหน้าดอลลาร์สหรัฐด้วยซ้ำ

หลายประเทศอียูเห็นต่าง

ใช่ว่าทุกประเทศสมาชิกอียูจะเห็นด้วยกับแนวคิดการใช้สกุลเงินเดียวของยุโรป ประเทศสมาชิกอียูที่สำคัญ 3 ประเทศ ซึ่งได้แก่ อังกฤษ, เดนมาร์ค และสวีเดน ทั้ง 3 ประเทศนับเป็นประเทศชั้นดีที่มีระบบเศรษฐกิจมั่นคงถึงขนาดที่ทางการยูโรโซนพร้อมจะส่งเทียบเชิญให้เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโรได้ทันที เหตุผลของการปฏิเสธก็เพราะยังทำใจไม่ได้ที่เอกราชทางเศรษฐกิจของตนจะต้องไปขึ้นอยู่กับประเทศอื่น และประชาชนของทั้ง 3 ประเทศก็มั่นใจในระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของตน และเกรงว่าประเทศจะอ่อนแอลงหากมีการใช้สกุลเงินเดียวร่วมกับหลายๆชาติ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2546 สวีเดนได้จัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการร่วมใช้สกุลเงินเดียวกับยูโรโซน และผลปรากฎว่าชาวสวีเดนร้อยละ 56 ไม่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มยูโรโซน การตัดสินใจไม่เข้าร่วมยูโรโซนของสวีเดนในครั้งนี้ นับเป็นการทำประชามติครั้งแรกของสหภาพยุโรปหลังจากที่ใช้เงินยูโรมาตั้งแต่ปี 2545 โดยก่อนหน้านั้น อังกฤษได้เคยลงประชามติไม่เข้าร่วมยูโรโซนมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2540 และ 2544 ขณะที่เดนมาร์คลงมติไม่รับเงินยูโรในเดือนกันยายน 2543

สกุลเงินเดียวในอุดมคติ

ตามหลักการแล้ว การรวมกลุ่มใช้สกุลเงินเดียวกันจะมีข้อดีหลายประการ แต่มีข้อแม้ว่าประเทศสมาชิกต้องมีความทัดเทียมกันในหลายๆด้าน ซึ่งที่สำคัญก็คือด้านเศรษฐกิจ จุดเด่นที่ชัดเจนก็คือ การค้าขายระหว่างกันเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น เพราะต้นทุนลดลงจากการที่ไม่มีอุปสรรคด้านอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนในการกู้ยืมลดลง เนื่องจากค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (premium risk) จะหมดไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงค่าความเสี่ยงสำหรับการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) ด้วย นอกจากนี้ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศยูโรโซนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ประเทศสมาชิก และเป็นเหมือนใบเบิกทางในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ในจำนวนมากและในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ

ในช่วงแรกนั้นมีแนวคิดที่จะใช้สกุลเงินยูโรเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปทางตอนเหนือที่มีระดับการพัฒนาและมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากกว่า แต่ในที่สุดก็มีการรวมกลุ่มประเทศเล็กๆที่ดูเหมือนยังไม่มีความพร้อมเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วย เช่น กรีซ จนในปัจจุบันนี้ยูโรโซนมีสมาชิกถึง 17 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม, ไซปรัส, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, โปรตุเกส, สเปน, สโลเวเนีย, ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์, มอลตา, สโลวาเกีย และเอสโทเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกล่าสุด กฎเหล็กในการปรับพื้นฐาน

ก่อนที่จะได้เข้าร่วมมาใช้สกุลเงินร่วมกัน ประเทศสมาชิกจะต้องผ่านเกณฑ์เพื่อปรับพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมหภาคให้ใกล้เคียงกันก่อน อันเป็นที่มาของกฎเหล็กในสนธิสัญญามาสตริชท์ ซึ่งได้แก่ การมียอดขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี), หนี้สาธารณะรวมไม่เกิน 60% ของจีดีพี, อัตราเงินเฟ้อต่ำ คือ ไม่เกิน 1.5% ของ 3 ประเทศสมาชิกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจที่ดีที่สุด, อัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ ค่าเงินต้องไม่ผันผวนเกินกว่าช่วงที่กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต้องไม่เกิน 2% ของ 3 ประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำสุด

ข้อแม้สำคัญที่ต้องยอมแลก

ประเด็นสำคัญสำคัญอีกประการหนึ่งในการใช้สกุลเงินร่วม ก็คือ ประเทศสมาชิกต้องยอมยกเลิกสกุลเงินของตัวเอง ซึ่งหมายถึงการยอมมอบนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยประเทศสมาชิกจะไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศตัวเองได้อีกต่อไป ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นเช่นไร ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนที่ค่อยๆบ่อนทำลายเศรษฐกิจและเสถียรภาพของยูโรโซน

ความแตกต่าง..กระจกเงาที่สะท้อนความแตกร้าวในปัจจุบัน

แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในด้านสภาพภูมิศาสตร์ โครงสร้างอุตสาหกรรม พื้นฐานเศรษฐกิจ ศักยภาพและวินัยทางการคลัง ยุโรปตอนเหนือ เช่น เยอรมนี มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นทำให้มีวินัยสูงกว่า อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จำเป็น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมหนัก ส่วนกลุ่มประเทศทางตอนใต้ เช่น กรีซ อิตาลี และสเปน มีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่า มีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาภาคเกษตรกรรม ประชากรมีฐานะยากจน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การท่องเที่ยว บริการ และสันทนาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์จากนักท่องเที่ยว การนำประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาใช้สกุลเงินและนโยบายการเงินร่วมกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของแต่ละประเทศได้อย่างทั่วถึง ประเด็นความแตกต่างนี้กำลังเป็นกระจกเงาที่สะท้อนปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในยูโรโซน

นโยบายรวมศูนย์..กรงทองที่จำกัดอิสรภาพ

กลุ่มประเทศยากจนทางตอนใต้ต้องการสกุลเงินที่อ่อนค่าเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันแก่สินค้าส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ไม่ได้สลับซับซ้อนและไม่ได้มีการเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีในการผลิต แต่ต้องอาศัยกลไกการแข่งขันด้านราคาเป็นสำคัญ ซึ่งนับเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างเยอรมนี ไม่ต้องอาศัยการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง สินค้าจากยุโรปทางเหนือเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะและมีมูลค่าในตัวเอง ค่าเงินจึงไม่ส่งผลต่อการแข่งขันของประเทศทางตอนเหนือ แต่กลุ่มประเทศยากจนและมีปัญหาทางเศรษฐกิจไม่สามารถที่จะใช้กลไกการปรับลดค่าเงินเพื่อหนุนศักยภาพการแข่งขัน, เพิ่มการส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากการใช้สกุลเงินร่วมและมีอีซีบีในการกำกับดูแลนโยบายการเงินของกลุ่ม ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการจัดการค่าเงิน การใช้สกุลเงินเดียวร่วมกันของกลุ่มประเทศที่มีความแตกต่างกันนั้น จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่อ่อนแอกว่า และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ลง

กรีซ..ประเทศเจ้าปัญหา จากการแหกกฎสู่ชนวนความหายนะ

ภาพลักษณ์ของกรีซไม่ได้ขาวสะอาดและโปร่งใสมาตั้งแต่แรก เริ่มจากการที่กรีซไม่ได้ถูกรวมอยู่ในประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์ที่จะร่วมเป็นสมาชิก 11 ประเทศแรกของยูโรโซน แต่ใช่ว่ากรีซจะละความพยายาม และถึงขั้นใช้วีธีการตกแต่งตัวเลขงบดุลปี 2541 จนสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกยูโรโซนได้ในปี 2543

ผลของการตกแต่งบัญชีดังกล่าวทำให้รัฐบาลกรีซคาดถึงตัวเลขขาดดุลงบประมาณของปี 2541 ไว้ที่ 1.9% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเงื่อนสำคัญที่ทำให้กรีซได้รับอนุมัติเป็นสมาชิกยูโรโซน แต่หลังจากนั้น ในปี 2543 ยูโรสแตท ซึ่งเป็นองค์กรด้านข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการของยุโรป ได้ปรับเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณของกรีซเป็น 3.2% สำหรับปี 2541 และ ในปี 2547 ยูโรสแตทได้ปรับเพิ่มยอดขาดดุลขึ้นอีก และส่งผลให้กรีซมียอดขาดดุลจริงในปี 2541 สูงถึง 4.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 3% ที่สนธิสัญญามาสตริชท์ระบุไว้

เมื่อมองย้อนไปในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจที่กรีซกลายเป็นประเทศแรกที่สร้างปัญหาแก่ยูโรโซน อันนำไปสู่วิกฤติที่บานปลายมาจนถึงปัจจุบัน การตกแต่งบัญชีในภาครัฐบาลเปรียบเหมือนการซ่อน"ขยะ" หรือ “หนี้" ไว้ใต้พรมมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกรีซเท่านั้นที่บิดเบือนตัวเลขทางบัญชี แต่รัฐบาลอีกหลายประเทศในยูโรโซนก็มีการตกแต่งบัญชีเช่นเดียวกัน เช่น สเปน, อิตาลี และโปรตุเกส โดยประเทศดังกล่าวต่างก็ต้องรับมือกับ “ขยะ" ซึ่งช่วยกันซุกซ่อนเอาไว้ และส่งกลิ่นคละคลุ้ง จนอาจจะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาอย่างมากเมื่อเทียบกับการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น เพราะนั่นหมายถึง “การโกหกคำโต" ของรัฐบาล ซึ่งจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของตลาดและนักลงทุนที่ยากจะฟื้นคืนได้ในระยะเวลาอันสั้น

การที่ยูโรโซนไม่ได้จัดการกับประเทศที่ละเมิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของกลุ่มอย่างจริงจัง ทำให้กฎเหล็กของสนธิสัญญามาสตริชท์ที่ตั้งขึ้นมาเป็นเหมือน “เสือกระดาษ" และเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงไป และยังสะท้อนถึงความไม่ใส่ใจในด้านความมีวินัย และจริยธรรม อันนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงเกินควบคุม (เพราะไม่เคยคุมได้มาตั้งแต่แรก)

วิกฤติการเงินและหนี้สินที่รุมเร้ายูโรโซนนับเป็นภาพปัจจุบันที่สะท้อนภาพของอดีตได้อย่างสมเหตุสมผล และความยากลำบากในการแก้วิกฤติครั้งนี้ก็บ่งชี้ถึงข้อด้อยในหลายด้านๆที่สะสมมาจนกลายเป็นจุดอ่อนที่ “แข็งแรง" จนหลายฝ่ายอาจจะต้องเริ่มกลับมาทบทวนการใช้เงินสกุลเงินเดียวว่า จะยังคงเป็นแนวทางที่ได้ผลดีอยู่หรือไม่ ซึ่งหากยังคงต้องการใช้ระบบเงินสกุลเดียวจริงๆ ก็คงต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในหายนะซ้ำรอยยูโรโซน!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ