นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย คาดว่า จากผลกระทบน้ำท่วมรุนแรงที่เริ่มส่งผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมและเขตเมืองจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไปค่อนข้างมากหากไม่สามารถคลี่คลายได้ในสิ้นเดือนนี้ และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.จะปรับตัวลดลงอย่างแรง
ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยของประเทศมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในส่วนของรายได้ในอนาคตในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 100.3 แต่หากสถานการณ์น้ำท่วมยังรุนแรงอยู่ในระดับนี้ จะทำให้ดัชนีกลับมาลดต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ให้ซบเซาลงด้วย และมีแนวโน้มว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในขณะนี้เริ่มเป็นช่วงขาลง
"จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้น มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะซึมเซาลงเพราะประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะสินค้าไม่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น รถยนต์ บ้าน การท่องเที่ยว กิจกรรมบันเทิง นี่คือสัญญาณให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นขาลง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะนี้หอการค้าได้ประเมินความเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วม เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 156,719 ล้านบาท แต่เป็นเพียงตัวเลขความเสียหายจากนิคมฯ สหรัตน และนิคมฯ โรจนะ เท่านั้น ยังไม่รวมความเสียหายจากนิคมฯ ไฮเทค และนิคมฯ อื่นๆ
และมองว่ามีผลกระทบต่อ GDP ปีนี้ลดลง 1.3-1.5% จากสัปดาห์ก่อนที่คาดว่าจะมีผลกระทบ 0.8-1% ทำให้ GDP ปีนี้เหลือโต 3-3.5% จากสัปดาห์ก่อนที่คาดว่าจะโต 3.5-4% ซึ่งการฟื้นตัวมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทางม.หอการค้า มองว่าในเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีส่วนช่วยได้ถ้าตรึงอัตตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบหน้า 19 ต.ค. ซึ่งธนาคารกลางในภูมิภาค มีการปรับลดเพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก
"ถ้าธปท.มองว่า ผลประทบจากเศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้โตได้เร็วขึ้น ประกอบกับการใช้นโยบายการคลังของภาครัฐ ดังนั้นถ้าลดดอกเบี้ยก็น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตได้ 4-4.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว