สหรัฐเผยยอดขาดดุลการค้าเดือนส.ค.ทรงตัว-ส่วนยอดขาดดุลกับญี่ปุ่นพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Friday October 14, 2011 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังของสหรัฐรายงานว่า ยอดขาดดุลการค้าและบริการทั่วโลกของสหรัฐอยู่ที่ 4.561 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกือบทรงตัวจากเดือนก่อนหน้านั้น ในขณะที่ยอดขาดดุลการค้าต่อญี่ปุ่นพุ่งขึ้น เนื่องจากการนำเข้ารถยนต์ที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

รายงานของกระทรวงฯ ระบุว่า ยอดขาดดุลกับญี่ปุ่นได้พุ่งขึ้น 27.9% สู่ระดับ 6.71 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดนำเข้าที่พุ่งขึ้น 14.7% สู่ 1.212 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ในขณะที่ยอดส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.7% สู่ 5.41 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการนำเข้ารถยนต์และอะไหล่จากญี่ปุ่นของสหรัฐอยู่ที่ 4.71 พันล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นจาก 3.78 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งตอกย้ำว่า ผลกระทบอันเนื่องมาจากห่วงโซ่อุปทานที่สะดุดลงเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคมได้สิ้นสุดลง

ยอดขาดดุลการค้ากับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง เพิ่มขึ้น 7.4% สู่สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.896 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3 ของยอดขาดดุลการค้าทั้งหมดของสหรัฐ และตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐเพิ่มความพยายามในการเรียกร้องให้จีนดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์

ยอดนำเข้าจากจีนของสหรัฐขยายตัว 6.4% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.736 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 2.9% สู่ 8.41 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติการค้าเป็นการรวบรวมจากดุลการชำระเงินหลังจากที่ปรับค่าฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว ส่วนข้อมูลการค้ากับแต่ละประเทศรวบรวมจากข้อมูลของกรมศุลกากรที่ยังไม่มีการปรับตัวเลข

ยอดขาดดุลการค้าและบริการกับทั่วโลกของสหรัฐได้ปรับขึ้นเป็น 4.563 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับเดือนกรกฎาคม จากการรายงานเบื้องต้นที่ 4.481 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ ยอดนำเข้าสินค้าและบริการทั่วไปของสหรัฐอยู่ที่ 2.2322 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกือบทรงตัวจากยอด 2.2333 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ