ส.อ.ท.เชื่อญี่ปุ่นไม่ย้ายโรงงานหนีหลังถูกน้ำท่วม-ห่วงปัญหาว่างงานพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 14, 2011 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังหารือกับนักธุรกิจจากหอการค้าญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) สำนักงานกรุงเทพ ว่า ส.อ.ท.ได้ยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ประกอบการญี่ปุ่นก็เข้าใจและยืนยันที่จะอยู่ร่วมกับประเทศไทย ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตและรุ่งเรืองร่วมกัน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมโรจนะไว้แล้ว โดยหากระดับน้ำที่ท่วมลดต่ำกว่าคันดินกั้นน้ำก็จะว่าจ้างผู้รับเหมารายใหญ่ 4 รายเข้าไปสูบน้ำออกจากนิคมฯ และหากระดับน้ำลดลงเหลือ 1 เมตรก็จะขอความร่วมมือกำลังทหารเข้าช่วยเหลือขนย้ายระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ส่วนใหญ่จัดเก็บไว้ที่ชั้น 2 ของโรงงาน ส่วนในระยะยาวได้เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้างคันกั้นน้ำเป็นซีเมนต์ที่แข็งแรงและสามารถเพิ่มระดับความสูง

ส่วนปัญหาที่นักธุรกิจญี่ปุ่นกังวลหลังจากนี้ คือ ปัญหาการว่างงานของแรงงานหลักแสนคนในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจต้องหยุดงาน 3-10 เดือน เพราะการฟื้นฟูโรงงานแต่ละแห่งไม่เท่ากัน โดยกลุ่มที่น่ากังวลคือพนักงานเอาท์ซอร์ซที่มีสัดส่วนกว่า 30% ของการจ้างงาน เพราะไม่มีสัญญาจ้างระยะยาว ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังได้เตรียมหาสำนักงานชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอีกด้วย

ด้านนายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานเจโทร กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่ได้คิดย้ายฐานการลงทุนจากไทย เพราะยังเป็นประเทศฐานการผลิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และร่วมมือทางธุรกิจอย่างเข้มแข็งมาอย่างยาวนาน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เพราะต้องรอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงจะประเมินได้

ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นต้องการคือข้อมูลข่าวสารที่เป็นภาษาอังกฤษ โดยอาจให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ก.น.อ.) เป็นศูนย์กลางกระจายข่าวสาร เพราะขณะนี้ข้อมูลสถานการณ์น้ำค่อนข้างสับสน และหวังว่าระดับน้ำจะลดโดยเร็ว เพื่อที่จะได้เข้าไปสำรวจความเสียหาย และเร่งฟื้นฟูเพื่อเดินหน้าสายการผลิตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ