(เพิ่มเติม) รมว.คลังเผยน้ำท่วมกระทบGDPกว่า6-9หมื่นลบ.-เร่งอุตฯกลับมาผลิตเร็วที่สุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 14, 2011 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศในขณะนี้ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายใน 2 ด้านคือ ทรัพย์สินและรายได้ โดยในด้านทรัพย์สินนั้น ขณะนี้ยังประเมินได้ยาก แต่เชื่อว่าไม่น่าจะหนักหนาอย่างที่มีผู้กังวล โดยเฉพาะโรงงานต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่มีการทำประกันภัยไว้แล้ว

ขณะที่ความเสียหายต่อรายได้หรือผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี) น่าจะสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ที่ประเมินไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนราว 6-9 หมื่นล้านบาทเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการประเมินก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักขยายวงเข้าท่วมในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในวันนี้

รมว.คลัง ยอมรับว่า ผลพวงของสถานการณ์อุทกภัยในรอบนี้ย่อมมีผลต่อจีดีพีอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากสิ้นเดือน ต.ค.ไปแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมจะสามารถคลี่คลายลงได้ ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำเป็นลำดับแรกคือการฟื้นฟู เพื่อเร่งให้กระบวนการในภาคการผลิตกลับมาโดยเร็ว

"หลังสิ้นเดือนนี้ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือการฟื้นฟูเร่งกระบวนการผลิตให้กลับมาโดยเร็ว เราต้องเอาชนะให้ได้ ผมมั่นใจว่าคนไทยทำได้" รมว.คลัง กล่าว

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวนโยบายที่ได้วางไว้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการผลักดันราคาสินค้าเกษตร, นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ การลงทุนเพิ่มในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบและถาวร เพื่อเป็นการวางแนวทางการแก้ปัญหาน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังอาจจะพิจารณาใช้มาตรการการคลังเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องนำประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้รวบรวมเป็นบทเรียนไว้ใช้ป้องกันสถานการณ์ในปีหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฉุกละหุกดังเช่นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัย, การจัดตั้งศูนย์อพยพ เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการเพื่อให้การอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติก่อนถึงจะขอสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือได้ หรือการปรับเพิ่มวงเงินสำรองฉุกเฉินให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ตั้งไว้ 50 ล้านบาท/จังหวัด ซึ่งล่าสุดมีถึง 33 จังหวัดที่ขอขยายวงเงินดังกล่าว และได้รับการอนุมัติไปแล้วรวมกว่า 4,000 ล้านบาท

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งธนาคาพาณิชย์ ให้ช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของธนาคาร โดยให้พิจารณาจากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเป็นหลักก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ