นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมในที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและเยียวยาด้านเศรษฐกิจที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ รวมทั้ง ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีการเสนอในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มมากขึ้นในเขตอยุธยา เพราะมีทั้งหมด 5-7 นิคมฯ เพื่อเป็นแรงจูงใจ หลังจากนิคมฯ หลายแห่งถูกน้ำท่วมหนักในขณะนี้
"นักลงทุนจะได้มีความมั่นใจ เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติลังเลว่าจะลงทุนในไทยต่อหรือไม่ ส่วนผู้ประกอบการ ผู้ทำนิคมฯ กังวลว่าถ้าจะขาย จะมีคนมาซื้อหรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง"
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) จะมีมาตรการเยียวยาเฉพาะหน้าในการเดินสายเยี่ยมเยียนหอการค้าญี่ปุ่น บรรดาโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสำรวจความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือ และ รมว.อุตสาหกรรมจะเสนอศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ส่งเจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือที่อยู่ภายในโรงงาน ซึ่งที่ประชุมจะมีการหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ จะมีการเตรียมวงเงินกู้ระยะยาว คาดว่าหลายแสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และในส่วนของโรงงานรายย่อยนอกนิคมฯ ใน 29 จังหวัด ก้จะดูว่าจะฟื้นฟูได้อย่างไร
ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ความเสียหายของ 5 นิคมฯ และอีกกว่า 1,000 โรงงาน ขณะนี้กระทบต่ออัตราการขยายตัวต่อเศรษฐกิจไทย (GDP) แล้วกว่า 1% โดยที่กระทบมากที่สุด คือ การผลิตคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ โดยประเมินจากมูลค่าการลงทุนของภาคการผลิตในนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท
"รัฐบาลพยายามปกป้องเต้มที่ สิ่งที่ธปท. กระทรวงอุตฯ รัฐบาล ทำ ได้ทำอย่าเงต็มที่ในการปกป้องดูแลฐานการผลิต"นายสุภาพ กล่าว