รมว.คลัง ห่วงน้ำท่วมยืดเยื้อกระทบจีดีพีสูงกว่า 1-1.7%,รัฐระดมมาตรการแก้ปัญหา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ประเมินว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในขณะนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ประมาณ 1-1.7% แต่อาจจะมีผลกระทบสูงกว่านี้ได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่า ในส่วนของ Supply chain จะมีส่วนเข้ามาช่วยในการดึงผลผลิตของประเทศกลับมาได้

มาตรการของภาครัฐจะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ มาตรการเร่งด่วน, มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู และ มาตรการเร่งดำเนินการป้องกันปัญหาระยะยาว

ในส่วนของมาตรการของสถาบันการเงิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปดูแลในส่วนของระบบการเงิน ให้มีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงในระบบเพียงพอ สถาบันการเงินจะจัดกระบวนการให้มีความยืดหยุ่นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ส่วนมาตรการเร่งรัดฟื้นฟูในส่วนประกันภัย การเรียกร้องสินไหม ต้องมีการจัดระบบการจ่ายเงินให้รวดเร็ว และภาคอุตสาหกรรมจะมีการประสานกับบริษัทเอกชน แบบเพื่อนช่วยเพื่อน

มาตรการทางด้านการคลังจะมีการยืดเวลาในการยื่นแบบภาษี, ผ่อนปรนการชำระหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจ, แก้ไขกฎระเบียบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการขอวงเงินสำหรับนำไปกู้ภัย หรือ เสริมมาตรการป้องกัน, จำเป็นต้องมีการจัดงบประมาณ โดยมองไปถึง 3-5 ปีข้างหน้า

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาริชย์ ยืนยันว่า ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเช้านี้มีความเห็นร่วมกันว่าแม้ผลกระทบของภัยพิบัติน้ำท่วมจะรุนแรงเพียงใด แต่เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการและฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจได้ โดยผู้ประกอบการต่างๆ เข้าใจสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เพราะสถานการณ์ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยยอมรับว่านิคมอุตสาหกรรมนวนครยังได้รับผลกระทบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก ในขณะที่แถลงข่าวน้ำก็เริ่มรั่วเข้านิคมฯ แล้ว แต่เชื่อว่าคนที่ทำงานอยู่ที่นิคมฯ ก็คงพยายามสุดความสามารถที่จะป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่โรงงาน

"ผมก็เอาใจช่วยแต่น้ำเริ่มเจาะ โอกาสปกป้องนิคมฯ ก็น้อยลงทุกที" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการเดินหน้าโครงการประชานิยม นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลยังจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายนโยบายไม่ได้ใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ที่จำเป็นต้องเดินหน้า เพราะจำเป็นต้องดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา พร้อมยอมรับว่าต้องหาแนวทางเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างจริงจัง

นพ.วรรรรัตน์ ชาญนุกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะใช้แนวทางประสานกับโรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในการรับแรงงานจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบไปทำงาน โดยยังคงสถานภาพของแรงงานนั้นไว้ ส่วนแรงงานที่ว่างงานทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการฝึกทักษะแรงงาน พร้อมทั้งจะมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ และหลังจากสามารถฟื้นฟูแล้วก็จะรับแรงงานเหล่านี้เข้าไปทำงานทันที

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ จะเร่งฟื้นฟูเครื่องจักรโดยเร็ว ส่วนเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีในระดับสูงจะใช้ผู้ที่ความเชี่ยวชาญเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ นอกเหนือจากมาตรการปกติ โดยจะมีการหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไปก่อนจะเสนอ ครม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ