Analysis: การประท้วงต้านวอลล์สตรีทส่งผลกระทบต่ออนาคตของสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Monday October 17, 2011 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเผยกับซินหัวว่า ความไม่เชื่อใจและความขุ่นเคืองที่กลุ่มผู้ประท้วงวอลล์สตรีท หรือ Occupy Wall Street มีต่อระบบการเงินของสหรัฐนั้น อาจจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีนักต่ออนาคตของสหรัฐ

แม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรประเทศ แต่ก็มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่มีความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและนโยบายของรัฐบาลบางนโยบาย ดังจะเห็นได้จากการเดินขบวนต่อต้านที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของสหรัฐ

ริชาร์ด วอททริช กรรมการผู้จัดการอาวุโสของแมคลีน กรุ๊ป กล่าวกับซินหัวว่า สหรัฐอเมริกาตกอยู่ท่ามกลางการถกเถียงกันทางความคิดครั้งใหญ่เกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ไล่ตั้งแต่เศรษฐกิจของประเทศจะเป็นเช่นไร ไปจนถึงบทบาทของลัทธิทุนนิยมและรัฐบาลขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

แม้ว่ายังเร็วเกินไปในขณะนี้ที่จะบอกว่า ผลพวงจากการประท้วงจะออกมาในรูปแบบใด แต่ความเคลื่อนไหวด้านสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดอนาคตของสหรัฐในช่วงเวลายากลำบากในประวัติศาสตร์ของประเทศ วอททริชกล่าว

ลุยจี ซินกาเลส ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและการเงินของมหาวิทยาลัยชิคาโก บูธ สคูล ออฟ บิสิเนส มองว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเป็นสัญญาณของกองกำลังใต้ดินที่จะนำไปสู่รูปแบบของการกบฎในภาคประชาชนหรือความไม่พึงพอใจของประชาชน

คำถามก็คือ เรื่องนี้จะนำไปสู่การเมืองอย่างไร และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็ขึ้นอยู่กับทิศทางทางการเมืองนี้เอง

การประท้วงเพื่อต่อต้านวอลล์สตรีทถือเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิประชานิยม หรือความเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับพวกที่ตัวเองมองว่าเป็นชนชั้นสูง ซึ่งอาจชักนำไปในทางที่ไม่ดีหรืออาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ก็ได้

ศาสตราจารย์ซินกาเลส ผู้ซึ่งเคยทำนายเมื่อปี 2552 ว่า ลัทธิประชานิยมจะเติบโตในสหรัฐ หลังจากที่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 กล่าวว่า ความรู้สึกร่วมที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงนั้น มีแนวโน้มว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมขบวนการและมีอิทธิพลมากขึ้น

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ซินกาเลสและคณาจารย์จากเคลล็อก สคูล ออฟ เมเนจเมนท์ ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ได้ร่วมกันจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้านการเงินขึ้น เพื่อวัดประเมินการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันที่มีต่อระบบการเงินและสถาบันเอกชน

สำหรับการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับดัชนีดังกล่าวนั้น ซินกาเลสเผยว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาคธนาคารนั้นลดลงไปอย่างมาก

ศาสตราจารย์ยังชี้ด้วยว่า สาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้วอลล์สตรีทตกเป็นเป้าหมายการประท้วงก็คือ ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์มากขึ้นเรื่อยๆต่อความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าการเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจสหรัฐก็ตาม

นายซินกาเลส กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชนมีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐได้อาศัยประโยชน์จากภาคเอกชน แต่ผมเกรงว่า เรื่องจะจบลงที่ภาคเอกชนอาศัยประโยชน์จากภาครัฐเสียมากกว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้เสียภาษีกำลังให้เงินอุดหนุนกำไรของภาคเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนที่เข้าร่วมการประท้วงต้านวอลล์สตรีทไม่ต้องการ

แม้ว่าสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและปฏิรูปวอลล์สตรีท หรือดอดด์-แฟรงค์ เพื่อกำกับดูแลการบริการด้านการเงิน แต่ชาวสหรัฐจำนวนมากโทษว่า มาตรการต่างๆที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและเรียกร้องให้มีการดำเนินการมากกว่านี้

แคเทอรีน ฮาร์บิน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ