นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ครั้งที่ 12/2554 มีมติปรับขึ้นค่าจ้าง 40% ในวันที่ 1 เม.ย.55 เลื่อนระยะเวลาจากเดิมวันที่ 1 ม.ค.55 เนื่องจากนายจ้างต้องประสบภาวะน้ำท่วมได้รับความเสียหายจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้ว
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 40%ทุกจังหวัด ซึ่งจะมี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่จะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรปราการ กับจังหวัดภูเก็ต โดยพิจารณาจากข้อมูลจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองในคณะกรรมการค่าจ้าง ไม่ได้ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเจรจานอกรอบแต่อย่างใด เป็นความเห็นพ้องกันของตัวแทนสามฝ่ายในคณะกรรมการฯ
นอกจากนี้ ยังมีมติเพิ่มเติมจากคณะกรรมการค่าจ้างฯ ที่เห็นว่าเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทแล้วก็จะคงอัตรานี้ไปจนถึงปี 58 ส่วนจังหวัดที่ยังไม่ถึง 300 บาทก็จะทยอยพิจารณาไปถึงปี 56 แต่ก็ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะต่อไป หากดีขึ้นคณะกรรมการฯ ก็จะทบทวนพิจารณาการขึ้นค่าจ้างต่อไปในอนาคต
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะทำงานได้เสนอต่อที่ประชุมเห็นพ้องกันให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และการขึ้น 40% ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายด้านภาษีได้ 1.5 เท่า และจะมีผลต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีกว่า 300,000 รายต่อไป
นอกจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลนี้แล้ว ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 1.5% จะครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคมกว่า 9.6 ล้านคน แต่จะไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตน ตลอดจนจะมีการใช้กองทุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาใช้ฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพิ่มผลิตภาพแก่ผู้ประกอบการต่อไป และยังมีในส่วนโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตราคงที่ 2-3 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาทแก่ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม ที่ได้พิจารณาไว้พร้อมแล้ว