นายวูล์ฟกัง ชูเบิล รมว.คลังเยอรมนีเปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 23 ต.ค.นี้ คาดว่าผู้นำอียูจะใช้แผน 5 ขั้นตอนเพื่อแก้ไขภาวะไร้เสถียรภาพในยูโรโซน และเพื่อขจัดความไม่แน่นอนในตลาด แต่เชื่อว่าผู้นำอียู "จะยังไม่มีมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้ยูโรโซนขั้นเด็ดขาด" ในการประชุมครั้งนี้
ส่วนในประเด็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนในภาคธนาคารนั้น นายชูเบิลได้ให้การรับรองข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปที่กำหนดว่า ธนาคารในยุโรปควรเพิ่มเงินทุนกันชน (capital buffer) เป็น 9% ของเงินกู้, การลงทุน และสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นๆ
นักวิเคราะห์คาดว่า ข้อเสนอของผู้นำอียูที่ต้องการให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มเงินทุนกันชนเป็น 9% นั้น อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ต้องระดมทุนเพิ่มอีกหลายพันล้านยูโร และหากธนาคารไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ ก็อาจทำให้ธนาคารต้องหันไประดมทุนจากภาครัฐ
ด้านนายสเตเฟน เซเบิร์ต โฆษกรัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาเตือนว่า "ความคาดหวังที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขและจัดการได้ภายในวันจันทร์หน้านั้น อาจจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาหนี้ยูโรโซนจะต้องใช้ขั้นตอนที่ยาวนาน และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่มีการประเมินกันในเบื้องต้น"
นักวิเคราะห์คาดว่า ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะหารือกันเกี่ยวกับการเปิดทางให้กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) สามารถปล่อยเงินกู้ได้เต็มศักยภาพมูลค่า 4.40 แสนล้านยูโร
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นของนายชูเบิล รมว.คลังเยอรมนี ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลง 247.49 จุด หรือ 2.13% แตะที่ 11,397.00 จุด และยังฉุดตลาดหุ้นในยุโรปร่วงลงเมื่อคืนนี้ (17 ต.ค.) ด้วย เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า วิกฤตหนี้ยูโรซนอาจจะยืดเยื้อ และอาจจะฉุดรั้งเศรษฐกิจทั่วโลกให้กลับสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่