นายสุทัศน์ ปัมทสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการภาวะวิกฤต(วอร์รูม) เพื่อติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าในบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้ทันท่วงที
ในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ โรงไฟฟ้าของบริษัท เอทีไบโอ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ปลดเครื่องออกจากระบบเนื่องจากน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.54, โรงไฟฟ้าบริษัท โรจนะเพาเวอร์ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิต 90 เมกะวัตต์ ปลดเครื่องออกจากระบบเนื่องจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.54 และโรงไฟฟ้าเขื่อนลำตะคองชลภาวัฒนา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของ กฟผ. กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ปลดเครื่องออกจากระบบเนื่องจากกรมชลประทานห้ามปล่อยน้ำตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.54 ล่าสุดโรงไฟฟ้าวังน้อยของ กฟผ.ซึ่งเดินเครื่องอยู่ 600 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่องแล้ว เนื่องจากประสบภาวะน้ำท่วม
โดย กฟผ.ได้ปรับแผนเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าเข้าระบบแทน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 1 ของ กฟผ. จำนวน 300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าระยองของ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) จำนวน 300 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสำนักงานกลาง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กฟผ.ได้เพิ่มระดับความสูงเขื่อนคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) เป็นระดับ 3.40 ม.รทก.และเสริมแนวถุงทรายชั้นในรอบโรงไฟฟ้าสูง 3.60 ม.รทก. พร้อมเตรียมกระสอบทรายสำรองพร้อมเสริมประจำทุกจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าเพิ่มเมื่อระดับน้ำแม่น้ำ 3 ม.รทก. หรือมีน้ำเข้าสำนักงานกลาง นอกจากนี้ได้ติดตั้งปั๊ม 2 จุดเพื่อสูบน้ำออกจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและสูบออกจากพื้นที่เพื่อระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ในส่วนของระบบส่งไฟฟ้าหลังตรวจสอบแล้วพบว่า สถานีไฟฟ้าแรงสูงหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และลพบุรี แต่ กฟผ.ยังสามารถดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบ สามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามภาพรวม กฟผ.สามารถดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงได้ โดยเฉพาะในด้านกำลังผลิตไฟฟ้านั้น ขณะนี้กำลังผลิตสำรองไฟฟ้าของระบบยังมีประมาณร้อยละ 18
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวถึงภาพรวมการระบายจากเขื่อนของ กฟผ.ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าการเกิดภาวะน้ำท่วมมากเป็นประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้มีสาเหตุจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ และมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน, กรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร, สำนักการระบายน้ำ กทม., กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยคณะกรรมการฯ มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และมีการประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ รวมถึงมีการติดตามร่วมกันเป็นรายวัน ดังนั้นการวางแผนและการดำเนินการเพื่อบริหารจัดการน้ำ จึงอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาข้อมูลรอบด้านจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนในลุ่มน้ำมากกว่าปกติ ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก
ทั้งนี้ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนทุกแห่งของ กฟผ.นั้นจะเป็นผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรกรรมและสาธารณูปโภคเป็นหลัก ตามปริมาณน้ำที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ใต้เขื่อนเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการประเมินด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า หน่วยงาน กฟผ.ทั่วประเทศได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ สร้างแนวป้องกันน้ำท่วม การนำถุงยังชีพเข้าไปมอบบรรเทาความเดือดร้อน การจัดหาที่พัก ยานพาหนะ และตั้งโรงครัวจัดหาอาหารให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัย โดยในส่วนของชุมชนรอบสำนักงานกลาง กฟผ. นั้น กฟผ.ร่วมกับเทศบาลเมืองบางกรวย และประชาชนรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 4 แห่ง ที่โรงเรียนวัดลุ่มคงคาราม โรงเรียนวัดเชิงกระบือ โรงเรียนวัดจันทร์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย เพื่อให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งจะสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,200 คน(ศูนย์ละ 300 คน) โดยศูนย์แต่ละแห่งได้จัดเป็นที่พัก พร้อมบริการอาหาร และให้การช่วยเหลืออื่นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ กฟผ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมประสานงานให้การช่วยเหลือ ณ ศูนย์ทั้ง 4 แห่ง จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายสู่สภาวะปกติ