(เพิ่มเติม) กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 3.5%,ทบทวนคาดการณ์ GDP ปี 54-55 จากอุทกภัยหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2011 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% โดยมีกรรมการ 1 เสียงเสนอให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบรุนแรงจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม กนง.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มในระยะต่อไปเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันน่าจะช่วยดูแลแรงกดดันด้านราคาและยังเอื้อต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจภายใต้ภาวะที่ปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ขณะที่ปัญหาและผลกระทบต่ออุทกภัยต่อภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ยุติ กนง.จึงมีมติดังกล่าว

"กนง.ดูปัจจัยโดยรวมทังหมดในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินนโยบายทิศทางดอกเบี้ย โดยมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจปัจจุบันและเศรษฐกิจต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมหรือเศรษฐกิจโลก ขณะนีเงินเฟ้อปี 55 ยังทรงตัวอยู่ เปิดช่องให้เราสามารถคงดอกเบี้ยในระดับต่ำได้อีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการประชุมครั้งหน้า"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ หากมองอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 4% และดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.5% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ 0.3% ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของภาคเอกชนในปี 55 สูงถึง 3.8% เพราะฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังเหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อปี 55 ยังอยู่ในระดับทรงตัว ไม่มีแรงกดดันให้เพิ่มขึ้นมากนัก ขณะที่ไม่ลดลง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ประเมินว่าการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 จะต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ และจะมีการทบทวนอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 54-55 ภายในอีก 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนั้น กนง.ยังพิจารณาในประเด็นสำคัญดังนี้ คือ เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่ยังไม่มีทางออกชัดเจน ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงจากความกังวลว่าปัญหาจะลุกลามเข้าสู่ภาคการธนาคารและภาคเศรษฐกิจจริง ขณะที่ตัวเลขล่าสุดของสหรัฐสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ทำให้ตลาดประเมินว่าความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้น

ด้านภูมิภาคเอเชีย การส่งออกของบางประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังเติบโตได้และแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่สามารถเข้ามาเพิ่มเติมเนื่องจากฐานะการคลังยังดีอยู่นั้นจะเป็นปัจจัยช่วยบรรเทาผลกระทบจากประเทศอุตสาหกรรมหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคได้ระดับหนึ่ง

สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของไตรมาส 3/54 ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัว แต่เริ่มมีสัญญาณของการแผ่วลงของการส่งออกสอดคล้องกับเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนแอลง ในขณะเดียวกันการค้าในภูมิภาคและอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากมาตรการของรัฐบาลจะช่วยจำกัดความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นมีผลรุนแรงและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนหยุดชะงัก ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก แต่การบูรณะซ่อมแซมความเสียหายจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ให้ทยอยกลับมาเติบโตได้ในระยะต่อไป

แรงกดดันด้านราคายังมีอยู่จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัว แม้ต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน ที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการคาดการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่เริ่มทรงตัวจะช่วยลดโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นในระยะต่อไปได้บ้าง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปจากการใช้จ่ายที่จะเร่งตัวขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ซึ่ง กนง.จะเฝ้าระวังสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป

"ปัญหาน้ำท่วมยังไม่ยุติทำให้แบงก์ชาติให้คำตอบผลกระทบเศรษฐกิจได้ไม่แน่นอนในขณะนี้ แต่เบื้องต้นใช้สมมติฐานเศรษฐกิจว่าการฟื้นฟูและการซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์คงยังไม่แล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ด้วยตัวเอง จากการจ้างงานและการส่งออกที่ขยายตัวดี ดังนั้น หากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายเร็ว ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไม่มาก ก็เชื่อว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะทำให้การขยายตัวจะกลับมาเป็นปกติได้"นายไพบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ