รมว.อุตฯ รับข้อเสนอเอกชนตั้งกองทุน 5 หมื่นลบ.-มาตรการฟื้นธุรกิจหลังน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2011 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รวมถึงนักลงทุนญี่ปุ่นและหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังรวมถึงมาตรการเยียวยาในด้านต่างๆ เช่น ให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อไม่กำหนดเพดานให้เป็นไปตามความเสียหาย, ขอให้บีโอไอยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรและขยายสิทธิประโยชน์, ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เข้ามาช่วยเหลือดูแลในเรื่องการจ่ายสินไหมและค่าชดเชยของบริษัทประกันภัยโดยเร็ว, ขอผ่อนผันระเบียบการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ให้ชะลอหรือเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด รวมทั้งการปรับขึ้น 40% ในจังหวัดอื่นๆ จากเม.ย.55 ไปเป็นต้นปี 56

รวมถึงขอให้ยกเว้นการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5% ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการโดยลูกจ้างยังคงได้สิทธิ์ประโยชน์เหมือนเดิม, และขอให้กระทรวงแรงงานนำเงินกองทุนประกันสังคมมาดูแลเรื่องการว่างงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงปิดกิจการหรือฟื้นฟูเป็นเวลา 3-6 เดือน โดยไม่ต้องเลิกจ้าง

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ประสานฟื้นฟูแบบบูรณาการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถฟื้นฟูได้ครบวงจรทั้งโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าและประปา ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ผ่อนปรนภาระเงินต้นและดอกเบี้ยและให้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดมาตรการในเรื่องการผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบการไม่ให้เป็น NPL

อย่างไรก็ดี จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการยังมั่นใจว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลน โดยยังมีสต็อกเหลืออยู่กว่า 1 เดือน แต่สิ่งที่จะกระทบคือในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์

ด้านนักลงทุนญี่ปุ่น ได้ขอให้รัฐบาลไทยบริหารจัดการการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ดี โรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมไปแล้วเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนป้อนภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลกและจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะไม่ถึง 1.8 ล้านคันตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

พร้อมกันนี้นักลงทุนญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐเร่งเข้าไปฟื้นฟูโดยเร็วหลังน้ำลด เพราะจะมีผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยในระหว่างนี้จะต้องนำเข้าชิ้นส่วนและเครื่องจักรเพื่อให้การผลิตเป็นไปอย่างราบรื่น และหวังว่ารัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษทั้งในเรื่องการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร ภาษีและกฎระเบียบทางศุลกากร

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า รัฐบาลจะรวบรวมข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการภาษี และแนวทางการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมเฉพาะหน้า ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า ส่วนมาตรการที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งจัดทำรายละเอียดโดยทันที

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่อยากให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จนั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบต่อการเรียกร้องสินไหมจากบริษัทประกันของผู้ประกอบการ เหมือนช่วงที่เกิดเหตุความไม่สงบที่ราชประสงค์เมื่อช่วงต้นปี ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ