นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาขยายตัวสูงขึ้นหลังน้ำลด แม้รัฐบาลจะประมาณการเบื้องต้นว่าผลกระทบจากน้ำท่วมจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 แสนล้านบาท
"ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงข้าม โดยจะพบว่าเมื่อประเทศเกิดปัญหาภัยพิบัติอย่างรุนแรง เผชิญความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในไตรมาสต่อๆ มากลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เช่น จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 4 มาเป็นร้อยละ 4.5 เป็นต้น ซึ่งสาเหตุแท้จริงก็ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยดูจากรายได้ประชาชาติปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพราะบัญชีรายได้ประชาชาติมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้" นายอดิศร์ กล่าวในรายงานเรื่อง "มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม GDP โตบนความสูญเสีย"
แม้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค.54 ระบุมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง 62 จังหวัด 621 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,742,310 ครัวเรือน 8,795,516 คน เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน และเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลประมาณการเบื้องต้นว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 100,000 ล้านบาท จะฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ว่าจะโตร้อยละ 4 ให้ลดลง
นายอดิศร์ กล่าวว่า สิ่งที่มักพบช่วงหลังภัยพิบัติหรืออุกทกภัยคือ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้บางประเภทประสบปัญหาและทำให้รายได้ประชาชาติปรับลดลง เช่น รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นอีกมาก เช่น อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มบรรจุขวด ปั๊มน้ำ สูบน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ธุรกิจจัดสวน ไม้ดอกประดับ อู่ซ่อมรถ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล่านี้ จะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพิ่มสูงขึ้นด้วย
"แม้ประชาชนจะสูญเสียทรัพย์สินมีค่าที่ใช้เวลาสะสมมานานอย่างบ้าน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ ที่สวน ไร่นา มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการในบัญชีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จึงไม่ส่งผลฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ลดลง อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้" นายอดิสร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและให้ผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งในภาวะปรกติจะสะท้อนความกินดีอยู่ดี แต่ในสภาวะการณ์ภายหลังภัยพิบัติ GDP ที่เติบโตจะสะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องนำทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องอิงการเปลี่ยนแปลงของบัญชีรายได้ประชาชาติ