นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้ติดตามดูแลสถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานีส่งไฟฟ้าทั้ง 5 แห่งที่อาจถูกน้ำท่วมและอาจมีความจำเป็นต้องดับไฟ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้จัดส่งแผนรองรับมาให้กระทรวงพลังงานแล้ว โดยหากจำเป็นต้องตัดไฟที่สถานีเหล่านี้ กฟผ.จะประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เพื่อเปลี่ยนโหลดไฟฟ้าไปรับจากสถานีอื่นทดแทน รวมถึงยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สามารถจะผลิตได้ทันทีอีก 1,100 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือจำนวน 700 เมกะวัตต์ของ กฟผ.ต้องหยุดเดินเครื่อง
ขณะที่ บมจ.ปตท.(PTT) รายงานว่า ปริมาณน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) จะไม่มีปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน แต่ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี) อาจมีปัญหาการขนส่งล่าช้าบ้าง เพราะการเดินทางและสถานีแม่บางแห่งถูกน้ำท่วม
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพราะขณะนี้ไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสูงถึง 80% และเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 20% จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่แหล่งพลังงานเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก๊าซฯที่มาจากอ่าวไทยก็นำมาใช้ในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงถึงแสนล้านบาทต่อปี ส่วนก๊าซฯที่นำเข้าจากประเทศพม่านั้นนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า และจากปัญหาน้ำท่วมทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางไปพม่าออกไปเป็นช่วงหลังน้ำลด จากเดิมที่มีแผนจะเดินทางในวันที่ 23-24 ต.ค.นี้ เพื่อเจรจาหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงทำให้การเจรจาเรื่องแหล่งทับซ้อนไทย-กัมพูชาต้องเลื่อนการเจรจาไปด้วย