นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ได้ติดตามดูแลสถานการณ์ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานีส่งไฟฟ้าทั้ง 5 แห่งที่อาจถูกน้ำท่วมและอาจมีความจำเป็นต้องดับไฟ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้จัดส่งแผนรองรับมาให้กระทรวงพลังงานแล้ว โดยหากจำเป็นต้องตัดไฟที่สถานีเหล่านี้ กฟผ.จะประสานไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เพื่อเปลี่ยนโหลดไฟฟ้าไปรับจากสถานีอื่นทดแทน รวมถึงยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สามารถจะผลิตได้ทันทีอีก 1,100 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือจำนวน 700 เมกะวัตต์ของ กฟผ.ต้องหยุดเดินเครื่อง
ขณะที่ บมจ.ปตท.(PTT) รายงานว่า ปริมาณน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) จะไม่มีปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน แต่ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี) อาจมีปัญหาการขนส่งล่าช้าบ้าง เพราะการเดินทางและสถานีแม่บางแห่งถูกน้ำท่วม
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพราะขณะนี้ไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสูงถึง 80% และเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 20% จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่แหล่งพลังงานเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก๊าซฯที่มาจากอ่าวไทยก็นำมาใช้ในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงถึงแสนล้านบาทต่อปี ส่วนก๊าซฯที่นำเข้าจากประเทศพม่านั้นนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า และจากปัญหาน้ำท่วมทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางไปพม่าออกไปเป็นช่วงหลังน้ำลด จากเดิมที่มีแผนจะเดินทางในวันที่ 23-24 ต.ค.นี้ เพื่อเจรจาหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงทำให้การเจรจาเรื่องแหล่งทับซ้อนไทย-กัมพูชาต้องเลื่อนการเจรจาไปด้วย
ด้านนายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการดูแลเรื่องพลังงานนั้นได้ดำเนินการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมจนส่งผลกระทบกับแหล่งเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น ส่วนก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ ปตท.สามารถส่งมอบ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งในจำนวนนี้ 37 ล้านลูกบาศก์ฟุตถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าระยอง และโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อทดแทนการหยุดผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวังน้อย โรจนะฯลฯ
ส่วนการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่มีการขุดเจาะเปิดทางน้ำไหลลงสู่ทะเล ซึ่งหลายแห่งมีแนวท่อส่งน้ำมันและก๊าซนั้น ปตท.ได้ส่งทีมวิศวกรเพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดโดยตลอด
ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า ขณะนี้ได้มีการปิดสถานีจำหน่าย NGV เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี รวมเป็น 46 แห่ง ด้านการจัดส่งก๊าซ NGV เนื่องจากมีการปิดสถานีต้นทางทำให้ทางด้านตะวันตก ยอดการขนส่งก๊าซ NGV ลดลง 1,180 ตันต่อวัน แต่ได้นำก๊าซ NGV จากสถานีด้านตะวันออกเข้ามาชดเชย 480 ตันต่อวัน ทำให้ก๊าซ NGV ลดลงไป 650 ตันต่อวันเท่านั้น ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามและหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพออย่างแน่นอน
พร้อมระบุว่า ได้ระดมเงินและสิ่งของบริจาคต่างๆ ส่งมอบให้ศูนย์อพยพนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้มอบเรือ 1,300 ลำ และกำลังส่งมอบเครื่องกรองน้ำดื่มอีก 3,000 ชุด ซึ่งขอให้ผู้ที่ได้รับมอบเรือและเครื่องกรองน้ำดื่มนำใช้ประโยชน์ส่วนรวม พร้อมทั้งเตรียมเงิน 484 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลด
"ใคร่ขอความร่วมมือนำเรือไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ควรจะยึดไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จนถึงขณะนี้เราได้รับการสนับสนุนเงินและสิ่งของบริจาคจากหน่วยงานในสังกัด บริษัทในเครือ และผู้บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป"