นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากการหากับสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย มองว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคเอกชนขณะนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าช่วยเหลือคือการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ จึงเห็นควรใช้กลไกลภาครัฐ ผ่านการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการกู้เงินของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเตรียมวงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ และบสย.ค้ำประกันในวเงินที่สูงกว่าเดิมที่ 15% เป็นไม่น้อยกว่า 30% และเป็นการค้ำประกันทั้งพอร์ต ไม่ใช่ค้ำประกันเป็นรายๆ
ส่วนการขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ย 0% ให้ลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น สมาคมธนาคารไทยชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารแต่ละแห่งมีมาตรการยืดหยุ่นในการชำระคืนหนี้ให้ลูกค้าอยู่แล้ว และการช่วยเหลือจะดูจากสถานะลูกค้าเป็นรายๆ ขณะที่ภาคเอกชนมองว่าเรื่องดอกเบี้ยเป็นปัญหารอง แต่ปัญหาหลักคือการเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ
"ภาคเอกชนมองว่าปัญหาสภาพคล่อง การมีเงินสดหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ประกอบการบางรายไม่มีธุรกิจเข้ามา ทรัพย์สินเสียหาย บางรายไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้" นายธีระชัย กล่าว
นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมฯได้เสนอขอให้สถาบันการเงินยืดหยุ่นกฎระเบียบการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และการส่งข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งจะมีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย และเครดิตบูโรต่อไป รวมถึงการเสนอให้เพิ่มระยะเวลาการหักขาดทุนสะสมเป็นค่าใช้จ่าย จากที่กำหนดให้นำผลขาดทุนสะสมของธุรกิจหักเป็นค่าใช้จ่ายภายใน 5 ปี ซึ่งปีนี้มีผู้ประกอบการบางรายได้ใช้สิทธิครบ 5 ปีแล้ว จึงขอเพิ่มระยะเวลาเป็น 6 ปี
สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ ทำให้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ครบวงจรการผลิต จึงขอให้มีการแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีห่วงโซ่การผลิตครบวงจร
อย่างไรก็ตามจากการหารือภาคเอกชนที่ได้มีการหารือกับลูกค้าและนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งต้องการเห็นการออกมาตรการถาวรเพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบโดยเร็ว เพราะให้ประเทศมีกระบวนการจัดการน้ำไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากทุกปีและสร้างความเสียหายในวงกว้าง
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการฟื้นฟูภาคธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการกระทำที่แท้จริงในการแก้ปัญหาในระยะยาวจะเป็นสิ่งพิสูจน์ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันมองว่า ปัญหาระยะสั้นรัฐบาลจะต้องมีคำตอบของการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันปัญหาในระยะสั้น เพราะในช่วงเดือน ก.ค.ปีหน้า กังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาซ้ำได้อีก
"บริษัทในนิคมฯก็ถูกตั้งคำถามจากลูกค้าว่าจะมีซัพพลายเชนให้อย่างไร เพราะกังวลว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้อีก เบื้องต้นทุกคนยังมั่นใจการลงทุนในไทย เพราะยังมีเรื่องทักษะฝีมือแรงงาน หากไปลงทุนที่อื่น ต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายปี" นายพยุงศักดิ์ กล่าว