ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: คลายวิตกหนี้ยุโรป ฉุดดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลักๆ

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 22, 2011 08:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือครองสกุลเงินอื่นๆที่มีความเสี่ยงมากกว่า รวมถึงเงินยูโร หลังจากนักลงทุนคาดหวังว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) จะสามารถหามาตรการควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะได้

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 1% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.090 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 76.860 เยน และดิ่งง 1.21% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8840 ฟรังค์ จากระดับ 0.8948 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3846 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3775 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ดีดตัวขึ้น 0.91% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.5930 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5787 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.99% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0331 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0230 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 1.12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8019 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7930 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในตะกร้าเงิน เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) จะสามารถหามาตรการควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะได้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อนายโวลเคอร์ เคาเดอร์ สมาชิกอาวุโสพรรคคริสเตียนเดโมแครต (ซีดียู) ของนางแองเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี คาดว่าการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 ของผู้นำสหภาพยุโรปซึ่งจะจัดขึ้นในเย็นวันพุธหน้านั้น ผู้นำอียูจะออกแผนเพิ่มขนาดกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF)

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เยอรมนีและฝรั่งเศสระบุว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูรอบแรกซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค.นี้ จะยังไม่มีการสรุปเรื่องการเพิ่มขนาดของกองทุน EFSF

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันมากขึ้นหลังจากนายดาเนียล ทารุลโล หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) มี "โอกาสอย่างมาก" ที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม และเชื่อว่าการเข้าซื้อตราสารหนี้จำนองอาจจะเป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้รับการพิจารณา ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวสอดคล้องกับที่นายเอริค โรเซนเกรน ผู้ว่าการเฟดสาขาบอสตันได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

ส่วนความคืบหน้าที่กรีซนั้น รัฐสภากรีซลงมติด้วยคะแนนเสียง 154 ต่อ 144 ให้การรับรองมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ เพื่อแลกกับเงินกู้เบิกจ่ายจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะช่วยให้กรีซสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ครอบคลุมถึงการลดการใช้จ่าย การลดค่าแรง การขึ้นภาษี ปลดข้าราชการพลเรือนหลายพันคน และปรับเปลี่ยนสิทธิในการต่อรองด้านแรงงานในบางกรณี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ