นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการเสนอมาตรการเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนี้ 1.ให้ชะลอการชำระค่าสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์จนกว่าจะสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ 2.เสนอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขนย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้า ออกจากคลังสินค้าและพื้นที่ประสบภัย
3.มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่จะเข้าไปโจรกรรมสินค้าหรือสิ่งของมีค่าในพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะ ตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ 4. เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย
5.เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อำนวยความสะดวกและออกใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้ชำนาญการชาวต่างประเทศ รวมไปถึงการระดมผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศเพื่อร่วมกันซ่อมแซมและติดตั้งเครื่องจักรและสาธารณูปโภคต่างๆ 6.ให้กระทรวงการคลัง ออกประกาศยกเว้นการจัดเก็บอากรขาเข้าเครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ในหารซ่อมแซมฟื้นฟูโรงงานต่างๆ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นผู้ให้การรับรองความเสียหายของโรงงานเหล่านั้น
7.เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนรถยนต์ของผู้บริโภคในประเทศจากการที่โรงงาสนผลิตในประเทศจากน้ำท่วม จึงได้เสนอให้กระทรวงการคลังงดเว้นการจัดเก็บอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบ ตามอัตราที่เหมาะสม 8.พิจารณาออกมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอปทั่วประเทศ ด้วยวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท 9.สนับสนุนให้แรงงานกว่า 6.6 แสนคนได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ได้รับการฝึกอาชีพ หรืออบรมฝีมือแรงงานระยะสั้น รวมไปถึงส่งแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากร ในระหว่างที่นายจ้างยังไม่สามารถประกอบกิจการได้ และ 10.เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และนิคมอุตสาหกรรม
ในส่วนของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2.5 แสนล้านบาทนั้น นพ.วรรณรัตน์ ชี้แจงว่า จะมีการนำวงเงินมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิค) และกองทุนประกันสังคม โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 3% เป็นระยะเวลา 3 ปี และหลังจากปีที่ 4 ให้คิดในอัตราลอยตัวตามสภาพตลาด
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการงดเว้นเก็บรายได้จากกำไรสิทธิประจำปีจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ต่อไป อีกทั้งในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในสังกัด ของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้พิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าลงทุนใหม่ หรือฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหาย อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะแรก โดยคาดว่าบอร์ดบีโอไอเร่งพิจารณาภายในสัปดาห์นี้
“มาตรการต่างๆที่เสนอไปนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และผู้ประกอบการ ที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการฟื้นฟูและเยียวยาด้านเศรษฐกิจจะเป็นผู้ติดตามมาตรการต่างๆเหล่านี้อีกครั้ง" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว