นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.วันนี้ ได้หารือในเบื้องต้นกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความเห็นร่วมกันที่จะปรับเปลี่ยนเพื้นที่เพาะปลูกสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง จากปกติจะมีการทำนา 3 ครั้ง/ปี โดยจะปรับเปลี่ยนเหลือ 2 ครั้งต่อปี เพื่อให้มีช่วงจังหวะนาว่างในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ในการบริหารจัดการน้ำในระบบแก้มลิงได้
โดยจากการศึกษาพบว่าพื้นที่ดังกล่าว มีจำนวน 2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ดังนั้นคณะกรรมการ ธ.ก.ส.จึงมีมติอนุมัติในหลักการเพื่อจัดพื้นที่ดังกล่าวช่วง 3 เดือนจัดเป็นนาว่างเพื่อรองรับน้ำ และจะมีการจัดระบบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อเตรียมรองรับระบบการจัดการน้ำ และจัดกำลังบำรุง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจ้างนาว่าง เป็นเงิน 7-8 พันล้านบาท/ปี และจัดงบประมาณเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยจะให้เริ่มดำเนินการภายในปี 55
"ที่ประชุมอนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน เพื่อกำหนดขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เริ่มดำเนินการและเสนอ ครม.เห็นชอบโดยเร็ว...จะมีการบังคับไม่ให้มีการเพาะปลูกในบางพื้นที่เพื่อให้มีการบริหารน้ำอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ในการรับน้ำจะไม่รับเข้าโครงการรับจำนำข้าวในการเพาะปลูกครั้งที่ 3 จะรับจำนำเฉพาะการเพาะปลูกครั้งที่ 1-2" นายธีระชัย กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนได้ง่าย ให้มีความสัมพันธ์ในการระบายน้ำในช่วงหน้าฝน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงน้อยลง แม้จะต้องใช้งบประมาณดำเนินการในแต่ละปี แต่ถือว่ามีความเสียหายน้อยกว่า
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงระบบการประกันภัยภาคบังคับ เนื่องจากมองว่าการชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เป็นการชดเชยความเสียหายตามต้นทุน ซึ่งบางรายอาจได้รับการชดเชยไม่เต็มที่ ดังนั้นเห็นว่าควรจะให้มีการประกันวินาศภัยทั่วประเทศ โดยเริ่มนำร่องสำหรับการปลูกข้าว เป็นการประกันภัยภาคบังคับสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งจะทำให้กระบวนการประกันภัยชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรทำได้มากขึ้น ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะมีการประสานงานกับ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
ที่ประชุมยังได้อนุมัติโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร (บัตรเครดิตชาวนา) โดยเป็นการเช่าเหมาะระบบบัตรเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1,008 ล้านบาท สำหรับเงื่อนไขการให้บริการบัตรสินเชื่อเกษตรกรในเบื้องต้นจะจำกัดวัตถุประสงค์การใช้เฉพาะชำระค่าปัจจัยการผลิตได้แก่ ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย และค่ายาปราบศัตรูพืชที่เกษตรกรซื้อจาก สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) และร้านค่าเครือข่าย จำนวนประมาณ 3,000 ร้านค้า โดยเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระและไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ ประกอบอาชีพทำนาข้าวและมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขาย และต้องนำผลผลิตข้าวของตนเองมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป้าหมายลูกค้า 2 ล้านราย
วงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตร ธ.ก.ส. กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขาย แต่ทั้งนี้ในส่วนของบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส. จะกำหนดวงเงินตามความจำเป็นและเหมาะสมในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 30 ของร้อยละ 70 ตามวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7 ปลอดดอกเบี้ย 30 วัน โดยจะตัดยอดการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี และกำหนดชำระคืนในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี กรณีเกษตรกรใช้บัตรช่วงระยะเวลาเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ และมีนาคม ให้กำหนดชำระคืนในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
กรณีเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ตามบัตรสินเชื่อเมื่อถึงกำหนดชำระได้ทั้งหมดหรือ บางส่วน ธ.ก.ส. จะปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคาร คือ MRR+3 หรือร้อยละ 10 ต่อปีรวมทั้งเบี้ยปรับอีกไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี รวมเป็นอัตรา MRR+3+3 หรือร้อยละ 13 ต่อปีจนกว่าจะชำระคืนเสร็จสิ้น
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า รูปแบบบัตรเครดิตชาวนา จะยังเป็นบัตรแถบแม่เหล็กและมีชิปการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าในนอาคต ซึ่งต้นทุนบัตรอยู่ที่ 40 บาท/ใบ ซึ่งรวมอยู่ในระบบเหมาบริการรระบบบัตร ที่ตั้งงบประมาณ 300 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทำบัตรให้เกษตรกรได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.55 เป็นต้นไป เริ่มนำร่องแก่ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งจะเริ่มใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์การเกษตรในการผลิตเดือน เม.ย.55